นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๖
๑. คนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็น ๔ วรรณะ คืออะไรบ้าง ?
ตอบ : คือ ๑. กษัตริย์ ๒. พราหมณ์ ๓. แพศย์ ๔. ศูทร ฯ
๒. อสิตดาบสกล่าวทำนายพระมหาบุรุษว่าอย่างไร ?
ตอบ : ว่ามีคติเป็น ๒ คือ
ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์
ถ้าออกบวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ
๓. เจ้าชายสิทธัตถะทรงปรารภอะไรจึงเสด็จออกบรรพชา ?
ตอบ : ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย และสมณะ (เทวทูต ๔) ฯ
๔. “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” เป็นคำพูดของใคร ? พูดกับ ใคร ?
ตอบ : เป็นพระดำรัสของพระพุทธเจ้า ฯ ตรัสกับยสกุลบุตร ฯ
๕. พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ใคร และเกิดผลอย่างไร ?
ตอบ : แก่พระปัญจวัคคีย์ ฯ เกิดผล คือพระอัญญาโกญฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ทูลขอบรรพชา ฯ
๖. พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะสำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพราะ ฟังธรรมจากใคร ?
ตอบ : พระสารีบุตร ฟังธรรมจากพระอัสสชิ
พระโมคคัลลานะ ฟังธรรมจากพระสารีบุตร ฯ
๗. สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ชื่อว่าอะไร ? ตั้งอยู่ในเมืองไหน ?
ตอบ : ชื่อว่า มกุฏพันธนเจดีย์ ฯ
เมืองกุสินารา ฯ
๘. ใครถวายบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ และก่อนปรินิพพาน ?
ตอบ : ก่อนตรัสรู้ คือนางสุชาดา
ก่อนปรินิพพาน คือนายจุนทกัมมารบุตร ฯ
ศาสนพิธี
๙. ศาสนพิธี คืออะไร ? ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วได้รับประโยชน์อย่างไรบ้าง ?
ตอบ : คือ แบบอย่างหรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา ฯ
ย่อมได้รับประโยชน์ คือ เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมที่เกี่ยวด้วยการบำเพ็ญกุศล การทำบุญ และการถวายทาน สามารถในการจัดพิธีต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ชื่อว่าเป็นผู้รักษา ขนบประเพณีอันงดงามของพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย ฯ
๑๐. การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คืออะไร ?
ตอบ : คือการประกาศตนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิตของตน ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๕
๑. พุทธประวัติ มีความสำคัญอย่างไรจึงต้องเรียนรู้ ?
ตอบ : มีความสำคัญในการศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา เพราะแสดงพระพุทธจริยาให้ปรากฏ ฯ
๒. เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จอุบัติขึ้นในวรรณะใด ? เป็นชนชาติใด ?
ตอบ : วรรณะกษัตริย์ ฯ
เป็นชนชาติอริยกะ ฯ
๓. อาฬารดาบสและอุทกดาบส มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร ?
ตอบ : อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านทั้ง ๒ ฯ
๔. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอะไร ? มีอะไรบ้าง ?
ตอบ : ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ฯ
มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ฯ
๕. ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมนั้น คือเห็นว่าอย่างไร ? ได้เกิดขึ้นแก่ท่านผู้ใดเป็นคนแรก ?
ตอบ : เห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” ฯ
ได้เกิดขึ้นแก่โกณฑัญญพราหมณ์เป็นคนแรก ฯ
๖. ปฐมสาวกและปัจฉิมสาวกคือใคร ?
ตอบ : ปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ
ปัจฉิมสาวก คือ พระสุภัททะ ฯ
๗. สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คืออะไรบ้าง ?
ตอบ : คือ ๑. สถานที่ประสูติ
๒. สถานที่ตรัสรู้
๓. สถานที่ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตร
๔. สถานที่ปรินิพพาน ฯ
๘. พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชายิ่งกว่าอามิสบูชา เพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะการปฏิบัติบูชานี้ ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่ได้ยาวนาน ฯ
ศาสนพิธี
๙. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กำหนดไว้กี่วัน ? คือวันอะไรบ้าง ?
ตอบ : ๔ วัน ฯ
คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา ฯ
๑๐. ปาฏิบุคลิกทานและสังฆทาน ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : ปาฏิบุคลิกทาน คือ ทานที่ถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฯ
สังฆทาน คือ ทานที่ถวายเป็นของกลางให้สงฆ์จัดเฉลี่ยกันใช้สอย ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๔
๑. การเรียนรู้พุทธประวัติได้ประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ : ได้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ
๑. ในด้านการศึกษา ทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับการศึกษาตำนานความเป็นมาแห่งชาติของตน ทำให้บุคคลได้ทราบว่า ชาติของตนเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร เป็นต้น
๒. ในด้านปฏิบัติ ทำให้บุคคลได้แนวในการดำเนินชีวิตตามพระพุทธจริยา อันเป็นปฏิปทานำความสุขความเจริญมาให้แก่บุคคล ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ฯ
๒. คนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็นกี่วรรณะ ? วรรณะกษัตริย์ มีหน้าที่ทำอะไร ?
ตอบ : แบ่งเป็น ๔ วรรณะ ฯ มีหน้าที่รักษาบ้านเมือง ฯ
๓. พระพุทธเจ้าประสูติที่ไหน ? เมื่อไร ?
ตอบ : ที่ลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ กับกรุงเทวทหะ ฯ
วันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี ฯ
๔. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุเท่าไร ?
ตอบ : ตรัสรู้ เมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ ปี
ปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุ ๘๐ ปี ฯ
๕. พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ใคร และเกิดผลอย่างไร ?
ตอบ : แก่พระปัญจวัคคีย์ ฯ เกิดผล คือพระอัญญาโกญฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบรรพชา ทำให้เกิดสังฆรัตนะ ฯ
๖. เทศนากัณฑ์แรก ชื่ออะไร ? พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ?
ตอบ : ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ฯ แก่พระปัญจวัคคีย์ ฯ
๗. ฆราวาสที่บรรลุพระอรหัตผลคนแรกคือใคร ? เพราะฟัง ธรรมอะไร ?
ตอบ : คือ ยสกุลบุตร ฯ เพราะฟังอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ฯ
๘. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพราะฟังธรรมจากใคร ?
ตอบ : พระสารีบุตร ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ฯ
พระโมคคัลลานะ ฟังธรรมจากพระสารีบุตร ฯ
ศาสนพิธี
๙. ศาสนพิธี คืออะไร ? ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วได้รับประโยชน์ อย่างไรบ้าง ?
ตอบ : คือ แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทาง พระศาสนา ฯ
ย่อมได้รับประโยชน์ คือ เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมที่เกี่ยวด้วยการบำเพ็ญกุศล เช่น การทำบุญ และการถวายทาน สามารถจัดพิธีต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ชื่อว่าเป็นผู้รักษาขนบประเพณี อันงดงามของพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย ฯ
๑๐. การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คืออะไร ?
ตอบ : คือการประกาศตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๓
๑. คนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็นกี่วรรณะ ? อะไรบ้าง ?
ตอบ : แบ่งเป็น ๔ วรรณะ ฯ
คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร ฯ
๒. เจ้าชายสิทธัตถะ อุบัติขึ้นในวรรณะใด ? เป็นชนชาติใด ?
ตอบ : วรรณะกษัตริย์ ฯ เป็นชนชาติอริยกะ ฯ
๓. พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน และถวายพระเพลิงในวันใด ?
ตอบ : ประสูติ ในวันเพ็ญเดือน ๖
ตรัสรู้ ในวันเพ็ญเดือน ๖
แสดงปฐมเทศนา ในวันเพ็ญเดือน ๘
ปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน ๖
ถวายพระเพลิง ในวันอัฏฐมีแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ฯ
๔. อสิตดาบสกล่าวทำนายพระมหาบุรุษว่าอย่างไร ?
ตอบ : ว่ามีคติเป็น ๒ คือ
ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
ถ้าออกบวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ
๕. เจ้าชายสิทธัตถะทรงปรารภอะไรจึงเสด็จออกบรรพชา ?
ตอบ : ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย และสมณะ (เทวทูต ๔) ฯ
๖. พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยว่าจะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อนเพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะทรงระลึกถึงอุปการคุณของปัญจวัคคีย์ ว่าได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ฯ
๗. สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล เป็นสถานที่ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ สำคัญ อะไรบ้าง ?
ตอบ : เหตุการณ์ที่พระพุทธองค์
๑. ประสูติ ๒. ตรัสรู้ ๓. ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นครั้งแรก
๔. เสด็จปรินิพพาน ฯ
๘. ใครถวายบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ และก่อนปรินิพพาน ?
ตอบ : ก่อนตรัสรู้ คือนางสุชาดา
ก่อนปรินิพพาน คือนายจุนทกัมมารบุตร ฯ
ศาสนพิธี
๙. ปาฏิบุคลิกทานและสังฆทาน ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : ปาฏิบุคลิกทาน คือทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะรูปนั้นรูปนี้ สังฆทาน คือทานที่ถวายไม่เจาะจงรูปใด มอบเป็นของกลางให้สงฆ์ จัดเฉลี่ยกันใช้สอยเอง ฯ
๑๐. การแสดงความเคารพพระ มีกี่วิธี ? อะไรบ้าง ?
ตอบ : มี ๓ วิธี ฯ
คือ ๑. ประนมมือ ในบาลีเรียกว่า ทำอัญชลี
๒. ไหว้ ในบาลีเรียกว่า นมัสการ
๓. กราบ ในบาลีเรียกว่า อภิวาท ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๒
๑. พระพุทธเจ้าสืบเชื้อสายมาจากชนชาติใด ? ชนชาตินั้น มาตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปได้อย่างไร ?
ตอบ : สืบเชื้อสายมาจากชนชาติอริยกะ ฯ
ชาวอริยกะนั้นเป็นผู้เจริญด้วยความรู้และขนบธรรมเนียม มีสติปัญญามากกว่าพวกมิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิม เมื่อข้ามภูเขาหิมาลัยมา ก็รุกไล่พวกมิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิมให้ถอยเลื่อนลงมาทางใต้ แล้วเข้าตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปแทน ฯ
๒. อะไรเป็นมูลเหตุให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ?
ตอบ : พระอรรถกถาจารย์แสดงตามนัยมหาปทานสูตรว่า ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทรงสังเวชเพราะได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ๓ ข้างต้น ยังความพอพระหฤทัยในการออกผนวชให้เกิดขึ้น เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะ ฯ
๓. อาฬารดาบสและอุทกดาบส มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร ?
ตอบ : อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านทั้ง ๒ ฯ
๔. พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุเท่าไรบ้าง ?
ตอบ : เสด็จออกผนวช เมื่อมีพระชนมายุ ๒๙ ปี
ตรัสรู้ เมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ ปี
ปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุ ๘๐ ปี ฯ
๕. พระอัญญาโกณฑัญญะได้ชื่อว่าเป็นปฐมสาวก เพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วอุปสมบทในพระพุทธศาสนาเป็นองค์แรก ฯ
๖. คำว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำอุทานของใคร ? เพราะเหตุใดจึงอุทานเช่นนั้น ?
ตอบ : ของยสกุลบุตร ฯ
เพราะเห็นอาการพิกลต่าง ๆ ของหมู่ชนบริวารที่นอนหลับ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเหมือนเมื่อก่อน หมู่ชนบริวารเหล่านั้น ปรากฏแก่ยสกุลบุตร ดุจซากศพที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า ครั้นเห็นแล้วเกิด ความสังเวชสลดใจ คิดเบื่อหน่าย จึงได้ออกอุทานเช่นนั้น ฯ
๗. ครั้งพุทธกาล วัดเชตวัน ตั้งอยู่ที่เมืองอะไร ? ใครเป็นผู้สร้างถวาย ?
ตอบ : เมืองสาวัตถี ฯ
คฤหบดีอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้สร้างถวาย ฯ
๘. การปลงอายุสังขารของพระพุทธองค์ ถือโดยใจความว่าอย่างไร ? และทรงปลงอายุสังขารเมื่อใด ?
ตอบ : ถือโดยใจความว่า พระองค์ทรงปรารภถึงสังขารว่า ทรงพระชราล่วงกาลผ่านไป
ไม่สามารถ บำเพ็ญพุทธกิจต่อไปได้อีกแล้ว ฯ
เมื่อวันเพ็ญ เดือน ๓ ก่อนวันปรินิพพาน ๓ เดือน ฯ
ศาสนพิธี
๙. ศาสนพิธี คืออะไร ? ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วได้รับประโยชน์ อย่างไรบ้าง ?
ตอบ : คือ แบบอย่าง หรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระศาสนา ฯ ย่อมได้รับประโยชน์ คือ เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมที่เกี่ยว ด้วยการบำเพ็ญกุศล การทำบุญและการถวายทาน สามารถในการจัด พิธีต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ชื่อว่า เป็นผู้รักษาขนบ ประเพณี อันงดงามของพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย ฯ
๑๐. วันสไคัญทางพระพุทธศาสนา กไหนดไว้กี่วัน ? มีวัน อะไรบ้าง ?
ตอบ : ๔ วัน ฯ
มีวันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๑
๑. พุทธประวัติ คืออะไร ? การเรียนรู้พุทธประวัตินั้นได้ประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ : คือ เรื่องที่พรรณนาความเป็นไปของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ ได้ประโยชน์ คือทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้าและแนวทางในการดำเนินชีวิตตามพระพุทธจริยา ฯ
๒. เจ้าชายลิทธัตถะอุบัติขึ้นในวรรณะใด ? ชนชาติไหน ?
ตอบ : วรรณะกษัตริย์ ฯ ชนชาติอริยกะ ฯ
๓. อสิตดาบสได้ทำนายสิทธัตถกุมารว่าอย่างไร ?
ตอบ : ทำนายว่า ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จักได้เป็นพระศาสดาเอกในโลก ฯ
๔. เจ้าชายสิทธัตถะทรงปรารภอะไร จึงเสด็จออกบรรพชา ? หลังจากบรรพชาแล้วกี่ปีจึงตรัสรู้ ?
ตอบ : ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย และสมณะ (เทวทูต ๔) ฯ ๖ ปีจึงตรัสรู้ ฯ
๕. พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยว่าจะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อนเพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะทรงระลึกถึงอุปการคุณของปัญจวัคคีย์ว่าได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ฯ
๖. ปฐมสาวกและปัจฉิมสาวก คือใคร ?
ตอบ : ปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ปัจฉิมสาวก คือ พระสุภัททะ ฯ
๗. พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพราะได้ฟังธรรมจากใคร ? ธรรมนั้นมีใจความว่าอย่างไร ?
ตอบ : จากพระอัสสชิเถระ ฯ ใจความว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น” ฯ
๘. พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชายิ่งกว่าอามิสบูชา เพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะการปฏิบัติบูชานี้ ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นอยู่ได้ยาวนาน ฯ
ศาสนพิธี
๙. การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หมายถึงอะไร ?
ตอบ : หมายถึง การประกาศตนของผู้แสดงว่า ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิตของตน ฯ
๑๐. การเผดียงสงฆ์และการอาราธนา ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : ต่างกันคือ การเผดียงสงฆ์ได้แก่ การแจ้งความประสงค์ให้สงฆ์ทราบ การอาราธนา ได้แก่ การนิมนต์พระสงฆ์ในพิธีให้ศีล สวดพระปริตร หรือแสดงธรรม ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๐
๑. ประชาชนในชมพูทวีป มีกี่จำพวก ? พระพุทธเจ้าสืบเชื้อสายมาจากชนชาติใด ?
ตอบ : มี ๒ จำพวก คือ
๑) มิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิม
๒) อริยกะ พวกอพยพมาใหม่ ฯ
สืบเชื้อสายมาจากชนชาติอริยกะ ฯ
๒. พระนามและนามดังต่อไปนี้ เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะ อย่างไร ?
ก. พระเจ้าสุทโธทนะ ข. พระนางเจ้าสิริมหามายา
ค. พระนันทะ ง. วิศวามิตร จ. นายฉันนะ
ตอบ : ก) พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชบิดา
ข) พระนางเจ้าสิริมหามายา เป็นพระราชมารดา
ค) พระนันทะ เป็นพระกนิษฐภาดาต่างพระมารดา
ง) วิศวามิตร เป็นครูผู้สอนศิลปวิทยาเมื่อยังทรงพระเยาว์
จ) นายฉันนะ เป็นผู้ตามเสด็จในคราวออกบวช ฯ
๓. พระเจ้าสุทโธทนะ มีพระราชโอรส พระราชธิดากี่พระองค์ ? มีพระนามว่าอะไรบ้าง ?
ตอบ : มีพระราชโอรส ๒ พระองค์ คือ
๑) พระสิทธัตถกุมาร
๒) พระนันทกุมาร
มีพระราชธิดา ๑ พระองค์ คือพระนางรูปนันทา ฯ
๔. เจ้าชายสิทธัตถะทรงปรารภอะไรจึงเสด็จออกบวช ? ทรงบวชได้กี่ปีจึงตรัสรู้ ?
ตอบ : ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย และสมณะ ฯ ๖ ปี จึงตรัสรู้ ฯ
๕. เทศนากัณฑ์แรก ชื่ออะไร ? ปัจฉิมสักขิสาวก คือสาวกองค์สุดท้ายที่ได้เห็นพระศาสดา ได้แก่ใคร ?
ตอบ : เทศนากัณฑ์แรก ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ฯ
ปัจฉิมสักขิสาวก ได้แก่ พระสุภัททะ ฯ
๖. ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมนั้น คือเห็นว่าอย่างไร ? ได้เกิดขึ้น แก่ผู้ใดเป็นคนแรก ?
ตอบ : เห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” ฯ
เกิดแก่โกณฑัญญพราหมณ์เป็นคนแรก ฯ
๗. คฤหัสถ์ที่บรรลุพระอรหัตผลคนแรกคือใคร ? เพราะฟัง ธรรมอะไร ?
ตอบ : คือ ยสกุลบุตร ฯ เพราะฟังอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ฯ
๘. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ สำเร็จเป็นพระโสดาบัน เพราะฟังธรรมจากใคร ?
ตอบ : พระสารีบุตร ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ฯ
พระโมคคัลลานะ ฟังธรรมจากพระสารีบุตร ฯ
ศาสนพิธี
๙. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมประกอบพิธีการบูชา เป็นพิเศษในปีหนึ่ง ๆ มีวันอะไรบ้าง ?
ตอบ : วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ฯ
๑๐. ปาฏิบุคลิกทาน และ สังฆทาน หมายถึงอะไร ?
ตอบ : ปาฏิบุคลิกทาน หมายถึง ทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
สังฆทาน หมายถึง ทานที่ถวายแก่สงฆ์ ไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๙
๑. การเรียนรู้พุทธประวัติได้ประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ : ได้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ
๑) ในด้านการศึกษา ทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับการศึกษาตำนานความเป็นมาของชาติตน ทำให้บุคคลได้ทราบว่า ชาติของตนเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร เป็นต้น ฯ
๒) ในด้านปฏิบัติ ทำให้บุคคลได้แนวในการดำเนินชีวิต ตามพระพุทธจริยา อันเป็นปฏิปทานำความสุขความเจริญมาให้แก่ บุคคลตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ฯ
๒. วรรณะทั้ง ๔ มีหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : มีหน้าที่ต่างกันอย่างนี้
๑) วรรณะกษัตริย์ มีหน้าที่ปกครอง
๒) วรรณะพราหมณ์ มีหน้าที่ทางฝึกสอนและทำพิธีกรรม
๓) วรรณะแพศย์ มีหน้าที่ทางทำนาค้าขาย
๔) วรรณะศูทร มีหน้าที่รับจ้าง ฯ
๓. พระนามและนามต่อไปนี้ เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะ อย่างไร ? ๑) มหาปชาบดีโคตมี ๒) อสิตดาบส (กาฬเทวิลดาบส)
ตอบ : ๑) มหาปชาบดีโคตมี เกี่ยวข้องโดยเป็นพระน้านางและเป็นผู้เลี้ยงดู
๒) อสิตดาบส (กาฬเทวิลดาบส) เกี่ยวข้องโดยเป็นผู้ที่คุ้นเคยของราชสกุล ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติใหม่ ๆ และพยากรณ์ว่า พระราชกุมารจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช หรือศาสดาเอกในโลก ฯ
๔. ถูปารหบุคคล มีกี่ประเภท ? คือใครบ้าง ?
ตอบ : ถูปารหบุคคล คือบุคคลที่ควรแก่การบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชา มี ๔ ประเภท คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ ฯ
๕. พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุเท่าไร ?
ตอบ : บรรพชา เมื่อพระชนมายุ ๒๙ ปี
ตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ ปี
ปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุ ๘๐ ปี ฯ
๖. พระอรหันตสาวก ๕ รูปแรก คือใครบ้าง ?
ตอบ : คือ
๑) พระอัญญาโกณฑัญญะ
๒) พระวัปปะ
๓) พระภัททิยะ
๔) พระมหานามะ
๕) พระอัสสชิ
เรียกว่าพระปัญจวัคคีย์ ฯ
๗. หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงพระประสงค์จักแสดงธรรมแก่ใครก่อน ? และสมพระประสงค์หรือไม่ ? เพราะเหตุไร ?
ตอบ : แก่อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร
ไม่สมพระประสงค์ เพราะท่านทั้ง ๒ สิ้นชีวิตแล้ว ฯ
๘. คำพูดว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำพูด ของใคร ? เพราะเหตุไรจึงพูดเช่นนั้น ?
ตอบ : เป็นคำพูดของยสกุลบุตร เพราะเห็นหมู่ชนที่เป็นบริวารของตนนอนหลับ มีอาการพิกลต่าง ๆ ไม่เป็นที่พอใจ ปรากฏดุจซากศพ ที่ทิ้งอยู่ในป่าช้า เกิดความสลดใจเบื่อหน่าย จึงพูดเช่นนั้น ฯ
ศาสนพิธี
๙. ศาสนพิธี คืออะไร ? ผู้ที่ได้เรียนรู้แล้วได้รับประโยชน์อย่างไร บ้าง ?
ตอบ : คือ แบบอย่าง หรือแบบแผนต่างๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา ฯ ได้ประโยชน์อย่างนี้ คือ เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรม ที่เกี่ยวด้วยการบำเพ็ญกุศล การทำบุญ และการถวายทาน สามารถในการจัดพิธีต่าง ๆ ได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน ชื่อว่าเป็นผู้รักษา ขนบประเพณีอันงดงาม ของพระพุทธศาสนาไว้ได้ด้วย ฯ
๑๐. วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ เป็นวันอะไร ? มีเหตุการณ์สำคัญ อะไรเกิดขึ้นในวันนั้น ?
ตอบ : เป็นวันอัฐมีบูชา มีเหตุการณ์สำคัญ คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๘
๑. พุทธประวัติ คืออะไร ? มีความสำคัญอย่างไรจึงต้องเรียนรู้ ?
ตอบ : คือเรื่องที่พรรณนาความเป็นไปของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ มีความสำคัญในการศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา เพราะแสดงพระพุทธจริยาให้ปรากฏ ฯ
๒. เจ้าชายสิทธัตถะทรงปรารภถึงอะไร จึงเสด็จออกบรรพชา ? และทรงบรรพชาได้กี่ปีจึงตรัสรู้ ?
ตอบ : ทรงปรารภถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย และสมณะฯ ทรงบรรพชาได้ ๖ ปี ฯ
๓. ผู้ประกาศตนเป็นอุบาสกด้วยการถึงรัตนะ ๒ เป็นครั้งแรก คือใคร ? ได้พบพระพุทธเจ้าที่ไหน ?
ตอบ : คือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ฯ ที่ใต้ต้นราชายตนะ ฯ
๔. พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานที่ใต้ต้นไม้อะไร ?
ตอบ : ประสูติและปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ ฯ
ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ (อัสสัตถพฤกษ์) ฯ
๕. ปัญจวัคคีย์ ได้แก่ใครบ้าง ? ท่านเหล่านั้นอุปสมบทด้วยวิธีอะไร ?
ตอบ : ได้แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ฯ ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ
๖. อนุปุพพิกถา ๕ ว่าด้วยเรื่องอะไร ? ทรงแสดงครั้งแรก แก่ใคร ?
ตอบ : ว่าด้วยทาน ศีล สวรรค์ โทษแห่งกาม และอานิสงส์แห่งการออกจากกาม ฯ
แก่ยสกุลบุตร ฯ
๗. สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ชื่อว่าอะไร ? ตั้งอยู่ ในเมืองอะไร ?
ตอบ : ชื่อว่า มกุฏพันธนเจดีย์ ฯ เมืองกุสินารา ฯ
๘. ใครถวายบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ และก่อนปรินิพพาน ?
ตอบ : ก่อนตรัสรู้ คือนางสุชาดา ก่อนปรินิพพาน คือนายจุนทะ ฯ
ศาสนพิธี
๙. การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ คืออะไร ?
ตอบ : คือการประกาศตนของผู้แสดงว่า ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิตของตน ฯ
๑๐. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา กำหนดไว้กี่วัน ? มีวันอะไร บ้าง ?
ตอบ : ๔ วัน ฯ มีวันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันมาฆบูชา ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๗
๑. ชมพูทวีปแบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ ๆ คืออะไรบ้าง ?
ตอบ : คือมัชฌิมชนบท และ ปัจจันตชนบท ฯ
๒. พระมหาบุรุษประสูติที่ไหน ? เมื่อไร ?
ตอบ : ลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ฯ วันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี ฯ
๓. อสิตดาบสกล่าวทำนายพระมหาบุรุษไว้ว่าอย่างไร ?
ตอบ : ว่ามีคติเป็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ
๔. พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ใคร และบังเกิดผลเลิศอย่างไร ?
ตอบ : แก่พระปัญจวัคคีย์ ฯ บังเกิดผลเลิศ คือพระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขอบรรพชา ฯ
๕. คำว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง” เป็นวาจาจาของใคร ? กล่าวกะใคร ?
ตอบ : ของพระพุทธเจ้า ฯ กะยสกุลบุตร ฯ
๖. พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังธรรมจากใคร ?
ตอบ : พระสารีบุตรฟังธรรมจากพระอัสสชิ พระโมคคัลลานะฟังธรรมจากพระสารีบุตร ฯ
๗. สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล เป็นสถานที่ให้ระลึกถึงเหตุการณ์ สำคัญอะไรบ้าง ?
ตอบ : เหตุการณ์ที่พระพุทธองค์
๑. ประสูติ
๒. ตรัสรู้
๓. ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นครั้งแรก
๔. เสด็จปรินิพพาน ฯ
๘. ผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์ระงับไม่ให้เกิดสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ คือใคร ?
ตอบ : โทณพราหมณ์ ฯ
ศาสนพิธี
๙. ศาสนพิธี คืออะไร ? มีหมวดอะไรบ้าง ?
ตอบ : คือแบบอย่างหรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทาง พระพุทธศาสนา ฯ มี
๑. หมวดกุศลพิธี ๒. หมวดบุญพิธี ๓. หมวดทานพิธี ๔. หมวดปกิณกะ ฯ
๑๐. จงเขียนคำอาราธนาพระปริตรมาดู ?
ตอบ : วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพทุกฺขวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพภยวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพโรควินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๖
๑. คนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็นกี่วรรณะ ? อะไรบ้าง ?
ตอบ : แบ่งเป็น ๔ วรรณะ ฯ
คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร ฯ
๒. พระพุทธบิดาทรงมีพระนามว่าอะไร ? ทรงปกครองแคว้นอะไร ? เมืองหลวงชื่ออะไร ?
ตอบ : พระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ฯ
แคว้นสักกะ ฯ ชื่อกบิลพัสดุ์ ฯ
๓. อสิตดาบส อาฬารดาบส และอุทกดาบส มีความเกี่ยวข้องกับพระมหาบุรุษอย่างไร ?
ตอบ : อสิตดาบส เป็นผู้คุ้นเคยเป็นที่เคารพนับถือของศากยสกุล ในเวลาที่พระมหาบุรุษประสูติใหม่ ๆ ท่านได้ไปเยี่ยม และได้พยากรณ์ทำนายพระลักษณะของพระมหาบุรุษว่ามีคติเป็น ๒ ก่อนคนอื่นอื่นทั้งหมด
อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านทั้ง ๒ ฯ
๔. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระราชบิดาโปรดให้ทำอะไรเพื่อพระราชกุมารบ้าง ?
ตอบ : โปรดให้ชุมนุมพระญาติวงศ์ และเสนามาตย์พร้อมกับเชิญพราหมณ์ร้อยแปดคนมาฉันโภชนาหาร แล้วทำมงคลรับพระลักษณะ และขนานพระนามว่าสิทธัตถกุมาร ฯ
๕. พระมหาบุรุษทรงทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิตแล้วดำริอย่างไร ?
ตอบ : เมื่อทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้ว ทรงน้อมเข้ามาเปรียบกับพระองค์เอง เกิดความสังเวชว่า เราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเช่นกัน เมื่อทรงเห็นบรรพชิต ดำริว่า สาธุ โข ปพฺพชฺชา บวชดีนักแล ฯ
๖. พระมหาบุรุษเสด็จประทับบำเพ็ญเพียรจนถึงตรัสรู้ ณ ตำบลใด ?
ตอบ : ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ฯ
๗. เมื่อพระศาสดาเสด็จไปเมืองพาราณสีเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ทรงพบใครในระหว่างทาง และหลังสนทนากันแล้วผู้นั้นได้บรรลุผลอะไร ?
ตอบ : ทรงพบอุปกาชีวก ฯ
ไม่ได้บรรลุผลอะไร ฯ
๘. บุคคลผู้แสดงตนเป็นอุบาสกด้วยการถึงรัตนะ ๒ และรัตนะ ๓ เป็นคนแรก คือใคร ?
ตอบ : ผู้ถึงรัตนะ ๒ คือตปุสสะและภัลลิกะ ฯ
ผู้ถึงรัตนะ ๓ คือ บิดาพระยสะ ฯ
ศาสนพิธี
๙. บุญพิธีมีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?
ตอบ : มี ๒ อย่าง คือ
๑) การทำบุญงานมงคล
๒) การทำบุญงานอวมงคล ฯ
๑๐. การแสดงความเคารพพระสงฆ์มีกี่วิธี ? อะไรบ้าง ?
ตอบ : มี ๓ วิธี คือ
๑) ประนมมือ เรียกว่า อัญชลี
๒) ไหว้ เรียกว่า นมัสการ
๓) กราบ เรียกว่า อภิวาท ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๕
๑. บุคคลต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับพระมหาบุรุษในฐานะใด ?
ก) พระเจ้าสีหหนุ ข) พระนางมหาปชาบดีโคตมี
ค) พระนางยโสธรา ฆ) นายฉันนะ ง) นางสุชาดา
ตอบ : ก) พระเจ้าสีหหนุ เป็นพระเจ้าปู่
ข) พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระน้านาง หรือพระมารดาเลี้ยง
ค) พระนางยโสธรา เป็นพระชายา
ฆ) นายฉันนะ เป็นผู้ตามเสด็จคราวเสด็จออกบรรพชา
ง) นางสุชาดา เป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสก่อนแต่ตรัสรู้ ฯ
๒. พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชาเพราะทรงปรารภเหตุอะไร ?
ตอบ : ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันครอบงำมหาชนทุกคน อีกนัยหนึ่ง เพราะทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ฯ
๓. ทุกรกิริยา คืออะไร พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยอาการอย่างไรบ้าง ? จงบอกมา ๑ ข้อ
ตอบ : การทรมานกายให้ลำบาก ด้วยอาการอย่างนี้ คือ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหา ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ทรงอดพระอาหารฯ (เลือกเพียงข้อใดข้อหนึ่ง)
๔. พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัยว่า จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อน เพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะทรงระลึกถึงอุปการคุณของปัญจวัคคีย์ ว่าได้เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ฯ
๕. พระสาวกผู้บรรลุพระโสดาบัน และพระอรหัตต์ ครั้งแรกคือใคร ?
ตอบ : พระโสดาบัน คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ
พระอรหันตสาวก คือ พระปัญจวัคคีย์ ฯ
๖. “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำอุทานของใคร ?
ตอบ : คำอุทานของยสกุลบุตร ฯ
๗. ครั้งพุทธกาล วัดเชตะวัน ตั้งอยู่ที่เมืองอะไร ใครเป็นผู้สร้างถวาย ?
ตอบ : เมืองสาวัตถี คฤหบดีอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้สร้างถวาย ฯ
๘. ปฐมสาวก และ ปัจฉิมสาวก คือใคร ?
ตอบ : ปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ
ปัจฉิมสาวก คือ พระสุภัททะ ฯ
ศาสนพิธี
๙. คำว่า “เจริญพระพุทธมนต์” กับ “สวดพระพุทธมนต์” ใช้ในพิธีต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : คำว่า “เจริญพระพุทธมนต์” ใช้ในพิธีมงคล ส่วนคำว่า “สวดพระพุทธมนต์” ใช้ในพิธีอวมงคล ฯ
๑๐. จงเขียนคำอาราธนาศีล ๕ มาดู ?
ตอบ : มยํ ภนฺเต วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย
ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ ยาจาม
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย
ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ ยาจาม
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย
ติสรเณน สห ปญฺจสีลานิ ยาจาม ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๔
๑. ประชาชนในชมพูทวีป มีกี่จำพวก จำพวกไหนบ้าง ?
ตอบ : มี ๒ จำพวก คือ
๑. มิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิม
๒. อริยกะ พวกอพยพมาใหม่ ฯ
(หรือจะตอบ :ว่า มี ๔ จำพวก หรือวรรณะ ๔ ก็ได้)
๒. เมื่อพระมหาบุรุษมีพระชนมายุได้ ๗ ปี ๑๖ ปี ๒๙ ปี มีเหตุการณ์สำคัญเกิดแก่พระองค์อะไรบ้าง ?
ตอบ : เมื่อพระชนมายุได้ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสสั่งให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระ ในพระราชวัง ให้เป็นที่เล่นสำราญแก่พระองค์
เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ หลัง เพื่อเป็นที่เสด็จอยู่ใน ๓ ฤดู และตรัสขอพระนางยโสธรามาอภิเษกเป็น พระชายา
เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี ได้พระโอรสนามว่าพระราหุลกุมารและเสด็จออกบรรพชา ฯ
๓. พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ที่ไหน ผู้ที่รู้เห็นเป็นพยานในเรื่องนี้คือใคร ?
ตอบ : ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ คือ พระปัญจวัคคีย์ฯ
๔. พระมหาบุรุษได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบสและอุทกดาบสจนจบวิชาความรู้ของอาจารย์ การที่กล่าวว่า พระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์นั้นเพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะความรู้ที่เรียนในสำนักดาบสทั้ง ๒ นั้น เป็นโลกิยธรรม ส่วนความรู้ที่ตรัสรู้เองนั้น เป็นโลกุตตรธรรมที่ไม่มีใครรู้มาก่อน ฯ
๕. พระอัญญาโกณฑัญญะได้ชื่อว่าเป็นปฐมสาวก เพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นองค์แรก ฯ
๖. คำว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำอุทานของใคร ความวุ่นวายขัดข้องนั้นสงบลงได้อย่างไร ?
ตอบ : ของยสกุลบุตร
ได้โดยการฟังพระธรรมเทศนา อนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรด ฯ
๗. สถานที่ต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดาอย่างไร ?
๑) ลุมพินีวัน ๒) อิสิปตนมฤคทายวัน ๓) ลัฏฐิวัน ๔) เวฬุวัน ๕) สาลวัน
ตอบ : ๑) ลุมพินีวัน เป็นสถานที่ประสูติ
๒) อิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์
๓) ลัฏฐิวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารและบริวารจนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
๔) เวฬุวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
๕) สาลวัน เป็นถสานที่ทรงแสดงมรรคมีองค์แปดแก่สุภัททปริพาชก และเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ฯ
๘. ถูปารหบุคคล คือบุคคลเช่นไร ได้แก่ใครบ้าง ?
ตอบ : คือ บุคคลที่ควรแก่การบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชา
ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิราช ฯ
ศาสนพิธี
๙. ปาฏิบุคลิกทานต่างจากสังฆทานอย่างไร ?
ตอบ : ปาฏิบุคลิกทาน คือ ทานที่ถวายเจาะจงเฉพาะพระรูปนั้นรูปนี้
ส่วนสังฆทาน คือ ทานที่ถวายไม่เจาะจงพระรูปใด มอบเป็นของกลางเจาะสงฆ์ ฯ
๑๐. จงเขียนคำอาราธนาพระปริตร มาดู ?
ตอบ : วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพทุกฺขวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ ฯ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพภยวินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ ฯ
วิปตฺติปฏิพาหาย สพฺพสมฺปตฺติสิทฺธิยา
สพฺพโรควินาสาย ปริตฺตํ พฺรูถ มงฺคลํ ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๓
๑. ศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากชนชาติใด ชนชาตินั้นมาตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปได้อย่างไร ?
ตอบ : สืบเชื้อสายมาจากชนชาติอริยกะ ชาวอริยกะนั้นเป็นผู้เจริญด้วยความรู้และขนบธรรมเนียม มีอำนาจมากกว่าพวกมิลักขะเจ้าของถิ่นเดิม เมื่อข้ามภูเขาหิมาลัยมาก็รุกไล่พวกมิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิมให้ถอยร่นลงมาทางใต้แล้วเข้าตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปแทน ฯ
๒. ภายใน ๗ วัน หลังจากสิทธัตถะราชกุมารประสูติแล้ว มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นแก่พระองค์อย่างไรบ้าง ?
ตอบ : ๑. เมื่อประสูติแล้วใหม่ ๆ อสิตดาบส (หรือกาฬเทวิลดาบส) เข้าไปเฝ้าเยี่ยมและทำนายพระลักษณะ
๒.วันที่ ๕ พระเจ้าสุทโธทนะเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาฉันโภชนาหารและขนานพระนามพระราชกุมารว่าสิทธัตถกุมาร
๓.วันที่ ๗ พระราชมารดาทิวงคต ฯ
๓. พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ และปรินิพพานเมื่อมีพระชนมายุเท่าไรบ้าง ?
ตอบ : เสด็จออกบรรพชา เมื่อมีพระชนมายุ ๒๙ ปี
ตรัสรู้ เมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ ปี
ปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุ ๘๐ ปี ฯ
๔. ปัญจวัคคีย์ คือใคร มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างไร ?
ตอบ : คือ นักบวชกลุ่มหนึ่ง มีทั้งหมด ๕ คน มีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ได้ตามเสด็จ คอยอุปัฏฐากรับใช้อยู่ตลอดเวลา ฯ
๕. เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ พระองค์ทรงพิจารณาบุคคลผู้สามารถจะตรัสรู้ธรรมได้โดยเปรียบเทียบกับบัว ๓ เหล่าอย่างไรบ้าง ?
ตอบ : ๑. บุคคลบางคน มีกิเลสน้อย มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย อาจจะตรัสรู้ธรรมพิเศษได้โดยฉับพลันเปรียบเหมือนบัวที่ตั้งอยู่พ้นน้ำ เมื่อถูกแสงอาทิตย์ก็จักบานในวันนั้น
๒. บุคคลบางคน มีกิเลสปานกลาง มีอินทรีย์ปานกลาง เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้เมื่อได้รับคำแนะนำ เปรียบเหมือนบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้ำจักบานในวันพรุ่งนี้
๓. บุคคลบางคน มีกิเลสหนา มีอินทรีย์อ่อน เมื่อได้รับการสั่งสอนอบรมอยู่เสมอ ๆ ก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวที่ตั้งอยู่ในน้ำ จักบานในวันต่อ ๆ ไป ฯ
๖. คำว่า ดวงตาเห็นธรรม นั้นคือเห็นอย่างไร พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังธรรมจากใคร ?
ตอบ : คือเห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา
พระโมคคัลลานะได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังธรรมจากพระสารีบุตร และพระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ฯ
๗. สังเวชนียสถาน ๔ ได้แก่ที่ใดบ้าง ?
ตอบ : ได้แก่ ๑. สถานที่ประสูติ ๒. สถานที่ตรัสรู้ ๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา ๔. สถานที่ปรินิพพาน ฯ
๘. พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชายิ่งกว่าอามิสบูชาเพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะเมื่อพุทธบริษัทปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรมแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้ตรัสรู้ธรรมได้ ทั้งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา และเป็นพระพุทธประสงค์หลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกทั้งการปฏิบัตินี้จะทำให้ศาสนาตั้งมั่นอยู่ในยืนนานฯ
ศาสนพิธี
๙. พุทธมามกะหรือพุทธมามิกา หมายถึงบุคคลเช่นไร ?
ตอบ : หมายถึง บุคคลผู้เป็นชายหรือหญิงผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าเป็นของตนเป็นการยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาประจำชีวิตของตนนั่นเอง ฯ
๑๐. ในการประเคนของถวายพระ มีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ : จับของที่จะประเคนด้วยมือทั้งสอง ยกขึ้นให้สูงเล็กน้อยแล้วน้อมถวายพระซึ่งท่านจะยื่นมือทั้งสองออกมารับ หากว่าผู้ถวายเป็นสตรี พึงวางของลงบนผ้ากราบที่พระปูไว้ข้างหน้า เสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบก็เป็นอันเสร็จวิธีการประเคน การประเคนนี้ต้องแสดงออกด้วยความเคารพไม่ใช่เสือกไสให้หรือทิ้งให้โดยไม่เคารพ อีกอย่าง ของที่จะประเคนนั้นต้องเป็นสิ่งของที่คน ๆ เดียวพอยกได้อย่างธรรมดา ไม่ใช่ของหนักหรือใหญ่จนเกินไป ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๒
๑. การเรียนรู้พุทธประวัติได้ประโยชน์อย่างไร ?
ตอบ : ได้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ
๑. ในด้านการศึกษา ทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับการศึกษาตำนานความเป็นมาของชาติตน ทำให้บุคคลได้ทราบว่า ชาติของตนเป็นมาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรเป็นต้น
๒. ในด้านปฏิบัติ ทำให้บุคคลได้แนวในการดำเนินชีวิตตามพระพุทธจริยา อันเป็นปฏิปทานำความสุขความเจริญมาให้แก่บุคคลตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ฯ
๒. เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นคืออะไรบ้าง ทรงเห็นแล้ว มีพระดำริอย่างไร ?
ตอบ : คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ
ทรงมีพระดำริว่า บุคคลทั่วไปถูกความเจ็บ ความแก่ ความตายครอบงำ ไม่ล่วงพ้นไปได้ ถึงพระองค์เองก็มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ควรแสวงหาอุบายเครื่องพ้น แต่ฆราวาสเป็นที่คับแคบ ดุจเป็นทางที่มาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้ จึงน้อมพระหฤทัยไปในบรรพชา ฯ
๓. การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น เพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะทรงดำริว่า ทุกรกิริยาที่ทรงบำเพ็ญนั้นจะยิ่งไปกว่านี้ไม่มี แต่ก็ไม่เป็นทางให้ตรัสรู้ได้ การบำเพ็ญเพียรทางจิตจักเป็นทางตรัสรู้ได้กระมัง แต่คนซูบผอมเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา กลับมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ ฯ
๔. อนัตตลักขณสูตร ว่าด้วยเรื่องอะไร ทรงแสดงเมื่อไร ผลเป็นอย่างไร ?
ตอบ : ว่าด้วย ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา, เมื่อวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘
ผล คือ จิตของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ฯ
๕. ฆราวาสที่บรรลุพระอรหัตตผลคนแรกคือใคร เพราะฟังธรรมอะไร ?
ตอบ : คือ ยสกุลบุตร, เพราะฟังอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ฯ
๖. พระพุทธเจ้าทรงเลือกแคว้นมคธเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก เพราะเหตุไร ?
ตอบ : เพราะแควันมคธ เป็นแคว้นใหญ่มีอำนาจและบริบูรณ์ด้วยสมบัติ มีประชาชนมาก มีเจ้าลัทธิมาก จึงทรงเลือก ฯ
๗. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์ สำเร็จเป็นพระโสดาบันเพราะฟังธรรมจากใคร ?
ตอบ : พระสารีบุตร ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ
พระโมคคัลลานะ ฟังธรรมจากพระสารีบุตร ฯ
๘. พระพุทธรูป สังเวชนียสถาน ตุมพสถูป และอังคารสถูปอย่างไหนเป็นบริโภคเจดีย์และอุทเทสิกเจดีย์ ?
ตอบ : สังเวชนียสถาน ตุมพสถูป และอังคารสถูป เป็นบริโภคเจดีย์
พระพุทธรูป เป็นอุทเทสิกเจดีย์ ฯ
ศาสนพิธี
๙. อุโบสถศีล มีกี่ข้อ ข้อที่ ๓ ว่าอย่างไร การเข้าจำอุโบสถศีลนี้อยู่ในหมวดไหนของศาสนพิธี ?
ตอบ : มี ๘ ข้อ ข้อที่ ๓ ว่า อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกขาปทํ สมาทิยามิ อยู่ในหมวดกุศลพิธี ฯ
๑๐. การแสดงความเคารพในศาสนาพิธีมีอะไรบ้าง ในแต่ละอย่างมีวิธีปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ : มี ประนมมือ ๑ ไหว้ ๑ กราบ ๑
ประนมมือ คือการกระพุ่มมือทั้งสองประกบกันไว้ระหว่างอก โดยให้ทุกนิ้วของมือทั้งสองแนบชิดติดตรงกัน
ไหว้ คือการยกมือที่ประนมขึ้นพร้อมก้มศีรษะเล็กน้อยให้มือประนมจรดหน้าผาก นิ้วมือทั้ง ๒ อยู่ระหว่างคิ้ว
กราบ คือการแสดงอาการกราบราบลงพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ฯ
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๑
๑. คนในชมพูทวีปแบ่งเป็นกี่วรรณะ อะไรบ้าง พระพุทธบิดาอยู่ในวรรณะอะไร ?
ตอบ : แบ่งเป็น ๔ วรรณะ คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร
อยู่ในวรรณะกษัตริย์ ฯ
๒. อสิตดาบสได้ทำนายสิทธัตถกุมารไว้อย่างไร ?
ตอบ : ทำนายไว้ว่า ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จักได้เป็นพระศาสดาเอกในโลก ฯ
๓. พระกระยาหารมื้อแรกของพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้คืออะไร ใครเป็นผู้ถวาย ?
ตอบ : คือ ข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อน พ่อค้า ๒ คน ชื่อตปุสสะและภัลลิกะ ฯ
๔. พระอรหันตสาวก ๕ รูปแรก คือใครบ้าง ?
ตอบ : คือ ๑. พระโกณฑัญญะ ๒. วัปปะ ๓. ภัททิยะ ๔. มหานามะ ๕. อัสสชิ ฯ
๕. พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่ใคร ที่ไหน ?
ตอบ : แก่ชฎิล ๓ พี่น้อง และบริวาร ๑,๐๐๐ คน ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา ฯ
๖. จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ประกอบด้วยองค์อะไรบ้าง ?
ตอบ : ด้วยองค์ คือ
๑. พระสาวกผู้เข้าประชุมนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์
๒. ทุกท่านล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา
๓. ไม่ได้มีการนัดหมาย ต่างมาประชุมพร้อมกันเอง
๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ และพระศาสดาประทานพระบรมพุทโธวาท ซึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ ฯ
๗. สถานที่ต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร ?
ก) ลุมพินีวัน ข) อิสิปตนมฤคทายวัน ค) สาลวโนทยาน
ตอบ : ก) ลุมพินีวัน เป็นสถานที่ประสูติ
ข) อิสปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา
ค) สาลวโนทยาน เป็นสถานที่ปรินิพพาน
ศาสนพิธี
๘. คำอาราธนาเบญจศีล ว่าอย่างไร ?
ตอบ : มยํ ภนฺเต, วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย, ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม
ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย, ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม
ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต, วิสุง วิสุง รกฺขนตฺถาย, ติสรเณน สห ปญฺจ สีลานิ ยาจาม ฯ
๙. ในพิธีทำบุญงานมงคล เจ้าภาพพึงจุดเทียนน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สูตรใด ?
ตอบ : มงคลสูตร ฯ
๑๐. คำอาราธนาพระสงฆ์มาสวดมนต์ในพิธีทำบุญงานมงคลกับในพิธีทำบุญงานอวมงคล ต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : ในงานมงคล ใช้คำว่า ขออาราธนาเจริญพระพุทธมนต์
ส่วนในงานอวมงคล ใช้คำว่า ขออาราธนาสวดพระพุทธมนต์
นักธรรม ชั้นตรี
ปัญหาและเฉลย วิชา พุทธประวัติ
สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๐
๑. เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติได้ ๕ วัน และ ๗ วัน มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น ?
ตอบ : เมื่อประสูติได้ ๕ วัน พระราชบิดาเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาฉันโภชนาหาร ทำนายพระลักษณะและขนานพระนาม และเมื่อประสูติได้ ๗ วัน พระราชมารดาเสด็จสวรรคตฯ
๒. พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันใดที่ไหน ?
ตอบ : ประสูติในเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี ตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปี และปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีตั้งต้นพุทธศก
ส่วนสถานที่นั้น คือ ประสูติที่ใต้ร่มไม้สาละในลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ ตรัสรู้ที่ใต้ตนโพธิ์ (อัสสัตถพฤกษ์) ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ (สาลวโนทยาน) เมืองกุสินารา ฯ
๓. เจ้าชายนันทกุมารกับเจ้าหญิงรูปนันทา เป็นพระโอรสและพระธิดาของใคร มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตกุมารอย่างไร ?
ตอบ : เป็นพระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตมี มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถกุมารโดยเป็นพระกนิฏฐภาดาและกนิฏฐคินีต่างพระมารดา ฯ
๔. เหตุการณ์ที่เงาต้นหว้าในเวลาบ่ายแล้วไม่คล้อยไปตามตะวัน กลับตั้งอยู่ดุจเวลาเที่ยง ปรากฏเมื่อคราวพระมหาบุรุษทรงทำอะไรอยู่ ?
ตอบ : ทรงนั่งขัดบัลลังก์สมาธิ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐานทำปฐมฌานให้เกิดขึ้น ฯ
๕. ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมนั้น คือเห็นว่าอย่างไร ได้เกิดขึ้นแก่ผู้ใดเป็นคนแรก ?
ตอบ : เห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” เกิดแก่โกณฑัญญพราหมณ์เป็นคนแรก ฯ
๖. พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร คือทรงทำอย่างไรที่ไหน เมื่อไร ?
ตอบ : คือทรงกำหนดพระหฤทัยว่า “จักปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า” ทรงทำที่ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี แควันวัชชี เมื่อวันเพ็ญเดือน ๓ ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน (วันมาฆบูชา) ฯ
๗. พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารอะไร ก่อนแต่เสด็จปรินิพพาน ใครถวาย ?
ตอบ : เสวยมังสะสุกรอ่อน (สูกรมัททวะ) นายจุนทกัมมารบุตรถวาย ฯ
ศาสนพิธี
๘. ศาสนพิธี คืออะไร เมื่อแยกเป็นหมวดจะได้หมวดอะไรบ้าง การทำบุญขึ้นบ้านใหม่จัดอยู่ในหมวดไหน ?
ตอบ : คือ แบบอย่างหรือแบบแผนต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาจะได้
๑. หมวดกุศลพิธี ๒. หมวดบุญพิธี ๓. หมวดทานพิธี ๔. หมวดปกิณกะ จัดอยู่ในหมวดบุญพิธี
๙. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมประกอบพิธีกรรมมีการบูชาเป็นต้น ปีหนึ่ง ๆ มีวันอะไรบ้าง ?
ตอบ : วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ฯ
๑๐. การเดินเวียนเทียนรอบปูชนียสถานในวันสำคัญทางพระศาสนา เดินเวียนซ้ายหรือเดินเวียนขวา เดินเวียนกี่รอบ แต่ละรอบพึงปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ : เดินเวียนขวา คือเดินเวียนไปทางที่มือขวาของตนหันเขาหาสถานที่ที่เวียนนั้น
เวียน ๓ รอบ พึงปฏิบัติอย่างนี้
รอบที่ ๑ พึงตั้งใจระลึกถึงพระพุทธคุณโดยนัยบท อิติปิ โส ภควา อรหํ ฯลฯ
รอบที่ ๒ พึงตั้งใจระลึกถึงพระธรรมคุณโดยนัยบท สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ฯลฯ
รอบที่ ๓ พึงตั้งใจระลึกถึงพระสังฆคุณโดยนัยบท สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ ฯลฯ ฯ