พุทธประวัติ

จากเกม

๑. ตอนประสูติ

สมัยก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เมื่อพระนางสิริมหามายา อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ มีพระประสงค์จะเสด็จไปประสูติที่ราชตระกูลเดิมของพระองค์ตามประเพณี ครั้นขบวนเสด็จถึงลุมพินีวัน อยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประชวรพระครรภ์จะประสูติ เหล่าราชบริพารที่ตามเสด็จ จึงจัดที่ประสูติถวาย ณ โคนต้นสาละใหญ่๑ ต้นหนึ่ง พระโพธิสัตว์กุมาร จึงประสูติจากพระครรภ์มารดา๒ ที่ลุมพินีวัน ตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖)

๒. ตอนมารห้ามออกผนวช 

พญาวสวัตดีมารทราบว่าพระบรมโพธิสัตว์ จะออกบวชและตรัสรู้พ้นจากอำนาจของตน จึงปรากฏกายเข้าไปขัดขวางเกลี้ยกล่อมให้ เปลี่ยนพระทัยกลับไปครองราชย์ แต่พระองค์ ทรงยืนยันหนักแน่นต่อพญามารว่าจักออกบวช

๓. ตอนออกผนวช

เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตระหนักถึงทุกข์ในความแก่ความเจ็บ และความตายซึ่งย่ำยีสรรพสัตว์ไม่ยกเว้นแก่ใคร มีพระทัยน้อมไปในการเสด็จออกบรรพชา ในที่สุดคืนหนึ่ง ได้ตัดสินพระทัยละความอาลัยในพระราชสมบัติ ครั้นได้ทอดพระเนตรพระชาย และโอรส ที่ประสูติได้เพียงวันเดียว เป็นการอำลาแล้ว เสด็จขึ้นหลังม้ากัณฐกะ ที่นายฉันนะ เตรียมพร้อมไว้ เสด็จออกบรรพชา มีนายฉันนะตามเสด็จ โดยตั้งพระทัยว่าเมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะเสด็จกลับมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติภายหลัง พระองค์เสด็จออกขณะมีพระชนม์ได้ ๒๙ พรรษา

๔. ตอนทรมานตน

พระพุทธองค์ทรงทรมานตน คือการบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยแบ่งเป็น ๓ วาระ ดังนี้

วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (กัดฟัน) กดพระตาลุด้วยพระชิวหา (ใช้ลิ้น ดุนเพดานปาก) ทำให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นในพระวรกายจนพระเสโทไหลออกเต็มพระกัจฉะ  (เหงื่อไหลออกจากรักแร้)

วาระที่ ๒ ทรงกลั้นลมหายใจ สูดและผ่อนลมหายใจเข้าออกทีละน้อยให้ช้าลงเรื่อยๆ จนเกิดเสียงอื้ออึงในช่องพระกรรณ (หู) ปวดพระเศียร (หัว) ร้อน ภายในช่องพระอุทร (ท้อง)

วาระที่ ๓ ทรงอดพระกระยาหาร เสวยแต่วันละน้อยจนพระวรกายผอมโซเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก จนพระกำลังถดถอยลงเรื่อยๆ จะเสด็จไปไหนก็ซวนเซจนสุดท้ายถึงกับทรงล้มสลบไป

๕. ตอนสดับพิณ ๓ สาย

พระมหาโพธิสัตว์แม้จะทรงบำเพ็ญตบะและทุกรกิริยานานถึง ๖ ปี แต่ไม่อาจบรรลุธรรม

วันหนึ่งทรงสดับเสียงพิณ ๓ สายของท้าวสักกเทวราช คือ

สายที่ ๑   ขึงตึงเกินไป ดีดแล้วขาด

สายที่ ๒   หย่อนเกินไป ดีดแล้วไม่มีเสียง

สายที่ ๓   ขึงแต่พอดี ดีดแล้วไพเราะ

ทำให้ทรงคิดได้ว่าการปฏิบัติที่เคร่งหรือหย่อนเกินไป ไม่อาจทำให้สำเร็จประโยชน์ได้ ควรที่จะดำเนินตามทางสายกลาง คือ มัชฌิมาปฏิปทา จึงกลับมาเสวยภัตตาหารบำรุงร่างกายให้แข็งแรง เตรียมพร้อมแก่การบำเพ็ญเพียรทางใจ

๖. ตอนตรัสรู้

ณ ใต้ต้นโพธิ์ หลังจากที่พระมหาบุรุษได้มีชัยชนะเหนือพญามารแล้ว ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิต่อไป เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว ในยาม๑๙ ต้นของคืนนั้นพระองค์ได้หยั่งรู้อดีตอันยาวไกลได้ตลอดหลายแสนชาติไม่มีที่สิ้นสุด (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) ในยามที่สองได้หยั่งรู้ว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วตายไป ประสบสุขและทุกข์ตามกรรมที่ทำไว้ ทำให้พระองค์เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า สรรพสัตว์นั้นเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในโลกนี้อย่างไร (จุตูปปาตญาณ) และในยามสุดท้ายพระองค์ทรงทราบหนทางซึ่งเมื่อบุคคลปฏิบัติตามแล้วจะสามารถชนะทุกข์ทั้งปวงในโลกนี้และประสพสุขที่แท้จริง (อาสวักขยญาณ) นั่นคือหยั่งทราบถึงทุกข์และสาเหตุของมัน ทราบความดับทุกข์และวิธีการดับทุกข์ (อริยสัจ ๔) นับได้ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ (วิสาขปุณณมี) ขณะมีพระชนม์ได้ ๓๕ พรรษา

๗. ตอนนาคปรก

หลังจากทีพระพุทธองค์ เสด็จออกต้นไทรแล้ว ก็เสด็จไปประทับที่ใต้ต้นจิก (มุจจลินท์) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ ต้นโพธิ์ ในขณะที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ฝนเจือลมหลาวตกพรำอยู่ตลอด ๗ วัน ไม่ขาดสาย พญานาคชื่อมุจจลินท์ ได้ขึ้นมาจากสระในบริเวณนั้น เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานอยู่เบื้องหลัง ปกป้องมิให้ลมและฝนถูกต้องพระพุทธเจ้า

๘. ตอนพิจารณาบัว ๔ เหล่า

พระองค์ทรงรับด้วยมีพระทัยกรุณาด้วยทรงพิจารณาเห็นว่าเวไนยสัตว์มีความแตกต่างกัน เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ เหล่า คือ 1. อุคฆฏิตัญญู ผู้มีปัญญาดีฟังเพียงหัวข้อธรรมก็สามารถเข้าใจได้ทันที เปรียบเหมือนบัวพ้นน้ำพอถูกแสงอาทิตย์ก็บานทันที 2. วิปจิตัญญู ผู้มีปัญญาปานกลางเมื่อฟังหัวข้อธรรมและคำอธิบายประกอบก็จะเข้าใจได้เปรียบเหมือนบัวปริ่มน้ำจะบานในวันถัดไป 3. เนยยะ ผู้มีปัญญาน้อยเมื่อได้ฟังธรรมซ้ำๆ และปฏิบัติด้วยความพากเพียรก็จะเข้าใจได้ เปรียบเหมือนบัวที่อยู่ในน้ำรอบานในวันต่อๆ ไป 4. ปทปรมะ ผู้อับปัญญาไม่สามารถเข้าใจธรรมได้เปรียบเหมือนบัวที่อยู่ในโคลนตมมีแต่จะเป็นอาหารของปลาและเต่า

๙. ตอนแสดงปฐมเทศนา

ในวันเพ็ญเดือน ๘ (อาสาฬหปุณณมี) พระพุทธเจ้าเสด็จไปแสดงธรรมแก่พระปัจจวัคคีย์ ๒๖  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ทำให้เกิดมีพระสงฆ์องค์แรกขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม นับเป็นวันที่พระรัตนตรัย (คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์) เกิดขึ้นครบองค์ครั้งแรกพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงครั้งแรกนี้เรียกว่า ปฐมเทศนาหรือธรรมจักกัปปวัตนสูตรมีเนื้อหาให้งดเว้นทางสุดโต่ง ๒ สาย คือกามสุขัลลิกายุโยค ได้แก่ ทำตนเองให้ลำบาก ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลางได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ ๒๗ อันเป็นข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์ และอริยสัจ ๔ ๒๘ ตามลำดับ อนึ่ง วันนี้ชาว พุทธถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เรียกว่า วันอาสาฬหบูชา

๑๐. ตอนโปรดชฎิล 3 พี่น้อง

หลังจากนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จมุ่งสู่อุรุเวลาเสนานิคมเพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง เจ้าลัทธิบูชาไฟ ซึ่งมีบริวารมากถึงหนึ่งพันคน และเป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองมคธเป็นจำนวนมาก หากโปรดชฎิลให้เลื่อมใสได้จะทำให้การประกาศศาสนาในแคว้นมคธเป็นไปได้โดยง่ายและรวดเร็ว ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หลายประการเพื่อข่มทิฏฐิของชฏิล ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร จนชฎิล ๑,๐๐๓ ตนได้ออกบวชและบรรลุพระอรหันต์

๑๑. แสดงยมกปาฏิหาริย์

สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัศดุ์ครั้งแรกและเสด็จบิณฑบาตในพระนคร พระพุทธเจ้าสุทโธทนะทรงทราบจึงรีบเสด็จตามไปต่อว่าพระพุทธองค์ ว่าทำให้พระบิดาได้รับความอับอายที่เป็นถึงโอรสกษัตริย์ของเมืองนี้ ยังเดินบิณฑบาตรขอผู้อื่นเลี้ยงชีพด้วยเท้าเปล่า พระพุทธองค์ตรัสว่ามิได้ทำให้พระบิดาละอายแต่อย่างใดเพราะเป็นพุทธประเพณี พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตและที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ต่างก็ดำรงพระชนม์ชีพด้วยอาหารบิณฑบาต จากนั้น ทรงแสดงธรรมแก่พระบิดา ความว่า เป็นบรรพชิตไม่ควรประมาทในอาหารบิณฑบาต ผู้ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมประสพสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต

๑๒. ปรินิพพาน

หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจมาเป็นเวลา ๔๕ พรรษา ในคืนที่จะปรินิพพาน ณ เตียงใต้ต้นสาละคู่หนึ่ง เมืองกุสินารา หลังจากที่ทรงแสดงธรรมและตอบข้อสงสัยในพระธรรมวินัยจนไม่มีใครสงสัยแล้วก็ได้ประทานโอวาทครั้งสุดท้าย แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกันในสถานที่นั้น ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ! บัดนี้ เราขอเตือนพวกท่านว่า สังขาร คือ สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมานั้น ล้วนมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ขอท่านทั้งหลาย ทำกิจของตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” จากนั้นพระพุทธองค์ทรงนิ่งเงียบ เข้าสู่ฌานสมาบัติอันลึกไปโดยลำดับ ออกจากฌาสมาบัติแล้วกลับเข้าอีกในระหว่างนี้ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ๔๘ ตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี