นักธรรม ชั้นโท วิชา ธรรมวิภาค

นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๖

๑. การพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นไตรลักษณ์ จัดเป็นกัมมัฏฐานอะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

      ตอบ : จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

        มีประโยชน์ คือทำให้รู้จักสภาพที่เป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน ฯ

๒. ราคะ โลภะ อิสสา กลิ่น รส อย่างไหนเป็นกิเลสกาม อย่างไหนเป็นวัตถุกาม ?

      ตอบ : ราคะ โลภะ อิสสา เป็นกิเลสกาม กลิ่น รส เป็นวัตถุกาม ฯ

๓. บุคคลผู้ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ทำด้วยความเมตตา กรุณา เป็นต้น จัดเข้าในอธิปเตยยะข้อไหน ?

      ตอบ : จัดเข้าในธัมมาธิปเตยยะ ฯ

๔. ปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เป็นสมณะ เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?

      ตอบ : เรียกว่า อริยวงศ์

        มี ๔ คือ  ๑. สันโดษด้วยจีวรตามมีตามเกิด
                   ๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามเกิด
                   ๓. สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามเกิด
                   ๔. ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ฯ

๕. ทิฏฐิ อวิชชา เพราะเหตุไรจึงเรียกว่า โอฆะ โยคะ อาสวะ ?

      ตอบ :   เรียกว่า โอฆะ เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์
                   เรียกว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ
                   เรียกว่า อาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน ฯ

๖. สังวรคืออะไร ? สติสังวร สำรวมด้วยสตินั้น มีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : คือการสำรวมระวังปิดกั้นอกุศล ฯ

        มีอธิบายว่า สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูปเป็นต้น ทั้งมีสติไม่ฟั่นเพื่อนลืมหลง ระลึกได้ก่อนแต่ทำ พูด คิด ไม่ให้ผิดทางกาย วาจา ใจ ไม่ประมาทหลงทำกรรมชั่ว ฯ

๗. พระธรรมคุณ บทว่า “เอหิปัสสิโก” มีอธิบายว่าอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถที่จะพิสูจน์ได้ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อประโยชน์สุขได้ทุกเวลา ฯ

๘. บารมี คืออะไร ? อธิษฐานบารมี คือการทำอย่างไร ?

      ตอบ : ปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด ได้แก่ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ

        คือความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ ฯ

๙. จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ ?

      ๑) อโหสิกรรม          ๒) กตัตตากรรม

      ตอบ : อโหสิกรรม คือกรรมที่ให้ผลสำเร็จแล้ว เป็นกรรมที่ล่วงเวลาที่จะให้ผล เปรียบเหมือนพืชสิ้นยาง ไม่สามารถเพาะให้ขึ้นได้
        กตัตตากรรม คือกรรมสักว่าทำ ได้แก่กรรมอันทำด้วยไม่จงใจ ฯ

๑๐. ธุดงค์ ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรอย่างเคร่ง ท่านให้ถือปฏิบัติอย่างไร ?

      ตอบ : เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ
        อย่างเคร่ง เมื่อเลิกบิณฑบาต นั่งลงแล้ว แม้มีผู้มาใส่บาตรอีก ก็ไม่รับ ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๕

๑. สังขตธรรมคืออะไร ? มีลักษณะอย่างไร ?

      ตอบ : คือ ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง ฯ
        มีลักษณะ คือ มีความเกิดขึ้นในเบื้องตัน มีความแปรปรวนในท่ามกลาง และมีความดับไปในที่สุด ฯ

๒. สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมุ่งผลแห่งการปฏิบัฏิบัติอย่างไร ?

      ตอบ : สมถกรรมฐาน มุ่งผลคือความสงบใจ
        วิปัสสนากรรมฐาน มุ่งผลคือความเรืองปัญญา ฯ

๓. กิเลส กรรม วิบาก ได้ชื่อว่า วัฏฏะ เพราะเหตุไร ? วัฏฏะนั้นจะตัดให้ขาดได้ด้วยอะไร ?

      ตอบ : เพราะวน คือหมุนเวียนกันไป กล่าวคือ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นแล้ว ให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสก็เกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ
        จะตัดให้ขาดต้องบรรลุพระอรหันต์ ฯ

๔. กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก หมายถึงอะไร ?

      ตอบ : กายวิเวก หมายถึง สงัดกาย ได้แก่ อยู่ในที่สงัด
        จิตตวิเวก หมายถึง สงัดจิต ได้แก่ ทำจิตให้สงบด้วยสมถภาวนา
        อุปธิวิเวก หมายถึง สงัดกิเลส ได้แก่ทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสด้วยวิปัสสนาภาวนา ฯ

๕. พระอริยบุคคล ๔ ได้แก่ใครบ้าง ? พระอริยบุคคลประเภทใด ละอวิชชาได้เด็ดขาด ?

      ตอบ : ได้แก่ พระโสดาบัน พระสทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ฯ
        พระอรหันต์ ละอวิชชาได้เด็ดขาด ฯ

๖. ชิวหาวิญญาณและกายวิญญาณ เกิดขึ้นเพราะอาศัยอะไร ?

      ตอบ : ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยลิ้นกับรส (กระทบกัน) และกายวิญญาณเกิดขึ้น เพราะอาศัยกายกับโผฏฐัพพะ (กระทบกัน) ฯ

๗. มัจจุมารได้แก่อะไร ? ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ?

      ตอบ : ได้แก่ ความตาย ฯ
        ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเมื่อความตายเกิดขึ้น บุคคลย่อมหมดโอกาสที่จะทำประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป ฯ

๘. ในธรรมคุณบทว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว” พระธรรมนั้นหมายถึงอะไร ?

      ตอบ : หมายถึง ปริยัติธรรม กับ ปฏิเวธธรรม (หรือโดยพิสดารได้แก่ สัทธรรม ๑๐ คือ โลกุตรธรรม ๙ กับปริยัติธรรม ๑) ฯ

๙. ในพระพุทธคุณ บทว่า อรหํ ที่แปลว่า เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร กำแห่งสังสารจักรนั้นได้แก่อะไร ?

      ตอบ : ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม ฯ

๑๐. พระสงฆ์ปฏิบัติอย่างไร จึงได้ชื่อว่า อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ?

      ตอบ : คือ ไม่ปฏิบัติลวงโลก ไม่มีมายาสาโถย ประพฤติตรงๆ ต่อพระศาสดาและเพื่อนสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่มีงอน ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๔

๑. ตจปัญจกกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ? เป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐาน หรือของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ?

      ตอบ : มี เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทนฺตา ฟัน และตโจ หนัง ฯ เป็นอารมณ์ได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

๒. ปฏิสันถาร มีอะไรบ้าง ? มีประโยชน์แก่ผู้ทำอย่างไรบ้าง ?

      ตอบ :   ๑. อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ
                 ๒. ธัมมปฏิสันถาร ต้อนรับโดยธรรม ฯ
     มีประโยชน์อย่างนี้ คือ
                   ๑. เป็นอุบายสร้างความสามัคคีและยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
                   ๒. เป็นการรักษาไมตรีจิตระหว่างกันและกันให้มั่นคง ยิ่งขึ้น ฯ

๓. ความคิดที่เป็นฝ่ายอกุศล มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

      ตอบ : มี ๓ อย่าง ฯ คือ

        ๑. กามวิตก ความตริในทางกาม
        ๒. พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
        ๓. วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน ฯ

๔. บุคคลผู้ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ทำด้วยความเมตตากรุณาเป็นต้น จัดเข้าในอธิปเตยยะข้อไหน ?

      ตอบ : จัดเข้าในธัมมาธิปเตยยะ ฯ

๕. อุปาทาน คืออะไร ? การถือเราถือเขาด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุถือพวก จัดเป็นอุปาทานอะไร ในอุปาทาน ๔ ?

      ตอบ : คือ การถือมั่นข้างเลว ได้แก่ถือรั้น ฯ

        จัดเป็นอัตตวาทุปาทาน ฯ

๖. สังวร คืออะไร ? สติสังวร สำรวมด้วยสตินั้น มีอธิบาย อย่างไร ?

      ตอบ : คือ การสำรวมระวังปิดกั้นอกุศล ฯ

        มีอธิบายว่า สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้อกุศลธรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูปเป็นต้น ทั้งมีสติไม่ฟั่นเฟือนลืมหลง ระลึกได้ก่อนแต่ทำ พูด คิด ไม่ให้ผิดทางกาย วาจา ใจ ไม่ประมาทหลงทำกรรมชั่ว ฯ

๗. จริต คืออะไร ? คนมีปกติเชื่อง่ายเป็นจริตอะไร ?

      ตอบ : คือ พื้นเพอัธยาศัยของบุคคลที่แสดงออกมาตามปกติเป็นประจำ ฯ เป็นสัทธาจริต ฯ

๘. กิเลสที่ได้ชื่อว่าอนุสัยและได้ชื่อว่าสังโยชน์ มีอธิบาย อย่างไร ?

      ตอบ : กิเลสที่ได้ชื่อว่าอนุสัย เพราะเป็นกิเลสอย่างละเอียด นอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ มักไม่ปรากฏ ต่อเมื่อมีอารมณ์มายั่ว จึงปรากฏขึ้น กิเลสที่ได้ชื่อว่าสังโยชน์ เพราะเป็นกิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้กับภพไม่ให้หลุดพ้นไปได้ ฯ

๙. พระพุทธคุณบทว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ มีความหมายอย่างไรบ้าง ? เลือกตอบมา ๒ อย่าง

      ตอบ : มีความหมายได้ ๔ อย่าง คือ

        ๑. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลส และบาปธรรม กล่าวคือเป็นผู้บริสุทธิ์
        ๒. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้หักกำลังสารจักร คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม ได้
        ๓. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนเขา หรือเป็นผู้ควรรับความเคารพนับถือ
        ๔. ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไม่มีความลับ คือมิได้ทำความเสียหายอันใดที่จะพึงซ่อนเร้น ฯ

๑๐. บารมี คืออะไร อธิษฐานบารมี คือการทำอย่างไร ?

      ตอบ : คือปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด ได้แก่ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ
        คือความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอนและดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๓

๑. สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน มุ่งผลแห่งการปฏิบัติอย่างไร ?

      ตอบ : สมถกรรมฐานมุ่งผลคือความสงบใจ
        วิปัสสนากรรมฐานมุ่งผลคือความเรืองปัญญา ฯ

๒. ราคะ โลภะ อิสสา กลิ่น รส อย่างไหนเป็นกิเลสกาม อย่างไหนเป็นวัตถุกาม ?

      ตอบ : ราคะ โลภะ อิสสา เป็นกิเลสกาม
        กลิ่น รส เป็นวัตถุกาม ฯ

๓. ความตริในฝ่ายชั่ว เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?

      ตอบ : เรียกว่า อกุศลวิตก ฯ มี
        ๑. กามวิตก ความตริในทางกาม
        ๒. พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
        ๓. วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน ฯ

๔. กิเลส กรรม วิบาก ได้ชื่อว่า วัฏฏะ ที่แปลว่าความหมุนเวียน อยากทราบว่าหมุนเวียนอย่างไร ?

      ตอบ : อย่างนี้ คือ กิเลสเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้วย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ

๕. พระอริยบุคคล ๔ ได้แก่ใครบ้าง ? พระอริยบุคคลประเภทใด ละอวิชชาได้เด็ดขาด ?

      ตอบ : ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์ ฯ พระอรหันต์ละอวิชชาได้เด็ดขาด ฯ

๖. มาร ๕ คืออะไรบ้าง ? ปัญจขันธ์ ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ?

ตอบ : คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร และ เทวปุตตมาร ฯ เพราะปัญจขันธ์นั้น บางทีทำความลำบากให้ อันเป็นเหตุเบื่อหน่าย จนถึงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี ฯ

๗. คนมีปกติรักสวยรักงาม จัดเป็นจริตอะไร ? จะพึงแก้ได้ด้วยการพิจารณากรรมฐานข้อใดได้บ้าง ?

      ตอบ : จัดเป็นราคจริต ฯ
        จะพึงแก้ได้ด้วยการพิจารณากายคตาสติ หรือ อสุภกรรมฐาน ฯ

๘. อนุสัย หมายถึงกิเลสประเภทใด ? ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะเหตุไร ?

      ตอบ : หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ฯ เพราะกิเลสชนิดนี้ บางทีไม่ปรากฏ แต่เมื่อมีอารมณ์มายั่ว ย่อมเกิดขึ้น ในทันใด ฯ

๙. พระสงฆ์ปฏิบัติอย่างไร จึงได้ชื่อว่า อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ?

      ตอบ : คือ ไม่ปฏิบัติลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ประพฤติตรงๆ ต่อพระศาสดาและเพื่อนสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่ มีงอน ฯ

๑๐. ธุดงค์ ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ? ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรอย่างเคร่ง ท่านให้ถือปฏิบัติอย่างไร ?

      ตอบ : เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ฯ อย่างเคร่ง เมื่อเลิกบิณฑบาต นั่งลงแล้ว แม้มีผู้มาใส่บาตรอีก ก็ไม่รับ ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๒

๑. บุคคลาธิฏฐานาเทศนา เทศนามีบุคคลเป็นที่ตั้ง มีอธิบายว่าอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า การสอนที่ยกบุคคลมาเป็นตัวอย่าง เช่น ในมหาชนกชาดก สอนเรื่องความเพียรโดยกล่าวถึงพระมหาชนกโพธิสัตว์ว่า ทรงมีความเพียรอย่างยิ่ง พยายามว่ายน้ำในท่ามกลางมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ มองไม่เห็นฝั่ง อย่างไม่ย่อท้อ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะถึงฝั่งให้ได้ และทรงถึงฝั่งได้ดังประสงค์ ฯ

๒. สังขตธรรม คืออะไร ? มีลักษณะอย่างไร ?

      ตอบ : คือธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง ฯ
        มีลักษณะ คือ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนในท่ามกลาง และมีความดับไปในที่สุด ฯ

๓. อธิปเตยยะ ๓ มีอะไรบ้าง ? บุคคลผู้ถือความถูกต้องเป็นใหญ่ ทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นต้น จัดเข้าในข้อไหน ?

      ตอบ : มี ๓ คือ

        ๑. อัตตาธิปเตยยะ ความมีตนเป็นใหญ่
        ๒. โลกาธิปเตยยะ ความมีโลกเป็นใหญ่
        ๓. ธัมมาธิปเตยยะ ความมีธรรมเป็นใหญ่ ฯ
        จัดเข้าในธัมมาธิปเตยยะได้ ฯ

๔. ปาฏิหาริย์คืออะไร ? พระพุทธเจ้าทรงยกย่องปาฏิหาริย์อะไร ว่าเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อื่น ?

      ตอบ : คือ การกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ ฯ

        ทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นอัศจรรย์ยิ่งกว่าปาฏิหาริย์อื่น ฯ

๕. ปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เป็นสมณะ เรียกว่าอะไร ? มีอะไรบ้าง ?

      ตอบ : เรียกว่า อริยวงศ์ ฯ มี ๔ คือ

        ๑. สันโดษด้วยจีวรตามมีตามเกิด
        ๒. สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามเกิด
        ๓. สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามเกิด
        ๔. ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ฯ

๖. กิจในอริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ?

      ตอบ : มี ๑. ปริญญา กำหนดรู้ทุกขสัจ
                   ๒. ปหานะ ละสมุทัยสัจ
                   ๓. สัจฉิกรณะ ทำให้แจ้งนิโรธสัจ
                   ๔. ภาวนา ทำมัคคสัจให้เกิด ฯ

๗. สังวรคืออะไร ? สติสังวร สำรวมด้วยสตินั้น มีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : คือ การสำรวมระวังปิดกั้นอกุศล ฯ

        มีอธิบายว่า สำรวมอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น ระวังรักษามิให้อกุศลกรรมเข้าครอบงำ เมื่อเห็นรูปเป็นต้น ทั้งมีสติไม่ฟั่นเฟือนหลงลืม ระลึกได้ก่อนแต่ทำ พูด คิด ไม่ให้ผิดทางกาย วาจา ใจ ไม่ประมาทหลงทำกรรมชั่ว ฯ

๘. พระพุทธคุณ บทว่า อรหํ แปลว่าอย่างไรได้บ้าง ?

      ตอบ : แปลว่า
        เป็นผู้เว้นไกลจากกิเลสและบาปกรรม
        เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร
        เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนเขา
        เป็นผู้ควรรับความเคารพนับถือของเขา
        เป็นผู้ไม่มีข้อลับ ไม่ได้ทำความเสียหายอันจะพึงซ่อน เพื่อมิให้คนอื่นรู้ ฯ

๙. คำว่า พระสงฆ์ ในบทสังฆคุณนั้น ท่านประสงค์บุคคลเช่นไร ? จงจำแนกมาดู

      ตอบ : ท่านประสงค์พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ซึ่งล้วนแต่ท่านผู้ที่ตั้งอยู่ในมรรคผลทั้งสิ้น
        คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล คู่ ๑
        พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล คู่ ๑
        พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล คู่ ๑
        พระอรหัตมรรค พระอรหัตผล คู่ ๑ ฯ

๑๐. บารมี คืออะไร ? อธิษฐานบารมี คือการทำอย่างไร ?

      ตอบ : ปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด
        ได้แก่ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ คือความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอนและดำเนินตามนั้นอย่าง แน่วแน่ ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๑

๑. บูชา ๒ คืออะไรบ้าง ? การสมาทานศีล ๕ เป็นประจำจัดเป็นบูชาประเภทใด ?

      ตอบ : คือ อามิสบูชา บูชาด้วยอามิสสิ่งของ ๑
        ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตาม ๑ ฯ
        เป็นปฏิบัติบูชา ฯ

๒. ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขสมุทัยมีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ :   ๑. ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสมุทัย จัดเป็นสัจญาณ
                   ๒. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ควรละ จัดเป็นกิจญาณ
                   ๓. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสมุทัย เป็นสภาพที่ละได้แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ

๓. เมตตา มีความหมายว่าอย่างไร ? เมตตาในพรหมวิหาร และในอัปปมัญญา ต่างกันอย่างไร ?

      ตอบ : มีความหมายว่า ปรารถนาความสุขความเจริญต่อผู้อื่น ด้วยความจริงใจ ฯ ต่างกันโดยวิธีแผ่ คือ
        แผ่โดยเจาะจงก็ดี โดยไม่เจาะจงก็ดี จัดเป็นพรหมวิหาร
        ถ้าแผ่โดยไม่เจาะจง ไม่จำกัด จัดเป็นอัปปมัญญา ฯ

๔. มาร ๕ คืออะไรบ้าง ? กิเลสได้ชื่อว่ามารเพราะเหตุไร ?

      ตอบ : คือ ปัญจขันธ์ กิเลส อภิสังขาร มรณะ และ เทวบุตร ฯ ได้ชื่อว่ามาร เพราะผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจแห่งกิเลสแล้ว กิเลสย่อมผูกรัดไว้บ้าง ย่อมทำให้เสียคนบ้าง ฯ

๕. ในธรรมคุณบทว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ดีแล้ว” พระธรรมนั้น หมายถึงอะไร ?

      ตอบ : หมายถึง ปริยัติธรรม กับ ปฏิเวธธรรม (หรือโดยพิสดาร ได้แก่ สัทธรรม ๑๐ คือ โลกุตรธรรม ๙ กับ ปริยัติธรรม ๑) ฯ

๖. วิญญาณฐิติต่างจากสัตตาวาสอย่างไร ?

      ตอบ : ต่างกันอย่างนี้
        ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ เรียกว่า วิญญาณฐิติ
        ภพเป็นที่อยู่แห่งสัตว์ เรียกว่า สัตตาวาส ฯ

๗. ในอวิชชา ๘ ข้อที่ว่า ไม่รู้จักอนาคต มีอธิบายว่าอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า ไม่รู้จักคิดล่วงหน้า ไม่อาจปรารภการที่ทำ หรือเหตุอันเกิดขึ้นในปัจจุบันว่าจักมีผลเป็นอย่างนั้นๆ ฯ

๘. คำว่า “อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง” คือปฏิบัติเช่นไร ?

      ตอบ : คือ ไม่ปฏิบัติลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ประพฤติตรงต่อพระศาสดาและเพื่อนสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ฯ

๙. สังโยชน์ คืออะไร ? พระโสดาบันละสังโยชน์อะไรได้เด็ดขาด ?

      ตอบ : คือ กิเลสอันผูกใจสัตว์ไว้ ฯ ละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้น คือ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส ฯ

๑๐. ครุกรรม คืออะไร ? ในฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศลได้แก่อะไร ?

      ตอบ : คือ กรรมหนัก ฯ
        ครุกรรมในฝ่ายอกุศล ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕
        ครุกรรมในฝ่ายกุศล ได้แก่ สมาบัติ ๘ ประการ ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๖๐

๑. ปฏิสันถาร มีอะไรบ้าง ? มีประโยชน์อย่างไร ?

      ตอบ : มี ๑) อามิสปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยสิ่งของ
                   ๒) ธัมมปฏิสันถาร ต้อนรับด้วยธรรม ฯ

        มีประโยชน์อย่างนี้ คือ

                   ๑) เป็นอุบายสร้างความสามัคคีและยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน
                   ๒) เป็นการรักษาไมตรีระหว่างกันและกันให้มั่นคงยิ่งขึ้น ฯ

๒. การพิจารณาสังขารทั้งหลายโดยความเป็นไตรลักษณ์ จัดเป็นกัมมัฏฐานอะไร ? มีประโยชน์อย่างไร ?

      ตอบ : จัดเป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

        มีประโยชน์ คือทำให้รู้จักสภาพที่เป็นจริงแห่งสังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ฯ

๓. ปาฏิหาริย์มีอะไรบ้าง ? ทำไมจึงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าอัศจรรย์ ?

      ตอบ : มี ๓ อย่าง คือ
        ๑) อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
        ๒) อาเทศนาปาฏิหาริย์ รู้ใจเป็นอัศจรรย์
        ๓) อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ฯ

        เพราะอาจจูงใจผู้ฟังให้เห็นคล้อยตาม ละความชั่ว ทำความดี ตั้งแต่ขั้นต่ำคือการถึงสรณะและรักษาศีล ตลอดถึงขั้นสูง คือมรรคผลนิพพานได้ ฯ

๔. ทิฏฐิ ความเห็นผิด ท่านเรียกว่า โอฆะ โยคะ อาสวะ เพราะเหตุใด ฯ

      ตอบ :   เรียกว่า โอฆะ เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์
                  เรียกว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ
                   เรียกว่า อาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในกระแสจิต ฯ

๕. ปัญจขันธ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าเป็นมาร มีอธิบายว่าอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า ปัญจขันธ์นั้น บางทีทำความลำบาก บางทีทำให้เกิดความเบื่อหน่าย จนถึงฆ่าตัวตายก็มี ฯ

๖. ในวิมุตติ ๕ วิมุตติอย่างไหนเป็นโลกิยะ อย่างไหนเป็นโลกุตตระ ?

      ตอบ : ตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ จัดเป็นโลกิยะ
        ส่วนสมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ จัดเป็นโลกุตตระ ฯ

๗. พระพุทธคุณบทว่า อรหํ ที่แปลว่า เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักรนั้น กำแห่งสังสารจักร ได้แก่อะไร ?

      ตอบ : ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม ฯ

๘. พระสงฆ์ ในบทสังฆคุณ ๙ ท่านหมายถึงพระสงฆ์เช่นไร ? คำว่า “อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง” คือปฏิบัติเช่นไร ?

      ตอบ : หมายถึง พระสาวกผู้ได้บรรลุธรรมวิเศษตั้งแต่โสดาปัตติมรรคเป็นต้น ฯ
        คือไม่ปฏิบัติลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ประพฤติตรงตรงต่อพระศาสดา และเพื่อนสาวกด้วยกัน ไม่อำพรางความในใจ ไม่มีแง่งอน ฯ

๙. บารมี คืออะไร ? ทำอย่างไรเรียกว่าอธิษฐานบารมี ?

      ตอบ : คือปฏิปทาอันยิ่งยวด หรือคุณธรรมที่ประพฤติอย่างยิ่งยวด ได้แก่ ความดีที่บำเพ็ญอย่างพิเศษ เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด ฯ

        ความตั้งใจมั่นตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่ เรียกว่า อธิษฐานบารมี ฯ

๑๐. ในกรรม ๑๒ อุปัตถัมภกกรรม กับ อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?

      ตอบ : อุปัตถัมภกกรรม ทำหน้าที่สนับสนุนผลแห่งชนกกรรม
        อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๙

๑. เจโตวิมุตติ กับ ปัญญาวิมุตติ ต่างกันอย่างไร ?

      ตอบ : เจโตวิมุตติ เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุฌานมาก่อนแล้ว จึงบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ
        ส่วนปัญญาวิมุตติ เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุด้วยลำพัง บำเพ็ญวิปัสสนาล้วน
        อีกนัยหนึ่ง เรียกเจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ เรียกปัญญาวิมุตติ เพราะพ้นจากอวิชชา ฯ

๒. พระอริยบุคคล ๘ จำพวก จำพวกไหนชื่อว่าพระเสขะและพระอเสขะ ? เพราะเหตุไร ?

      ตอบ : พระอริยบุคคล ๗ เบื้องต้นชื่อว่าพระเสขะ เพราะเป็นผู้ยังต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลเบื้องสูง
        พระอริยบุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล ชื่อว่าพระอเสขะ เพราะเสร็จกิจอันจะต้องทำแล้ว ฯ

๓. ราคะ โลภะ อิสสา กลิ่น รส อย่างไหนเป็นกิเลสกาม อย่างไหนเป็นวัตถุกาม ?

      ตอบ : ราคะ โลภะ อิสสา เป็นกิเลสกาม กลิ่น รส เป็นวัตถุกาม ฯ

๔. คำว่า “โสดาบัน” แปลว่าอะไร ? ผู้บรรลุโสดาบันนั้น ละสังโยชน์อะไรได้เด็ดขาด ?

      ตอบ : โสดาบัน แปลว่า ผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน
                   ๑) สักกายทิฏฐิ
                   ๒) วิจิกิจฉา
                   ๓) สีลัพพตปรามาส ฯ

๕. ความตริในฝ่ายชั่ว เรียกว่าอะไร ? มีกี่อย่าง ? อะไรบ้าง ?

      ตอบ : เรียกว่า อกุศลวิตก มี ๓ อย่าง คือ
        ๑) กามวิตก ความตริในทางกาม
        ๒) พยาบาทวิตก ความตริในทางพยาบาท
        ๓) วิหิงสาวิตก ความตริในทางเบียดเบียน ฯ

๖. มัจจุราชได้แก่อะไร ? ได้ชื่อว่าเป็นมารเพราะเหตุไร ?

      ตอบ : ได้แก่ความตาย ชื่อว่าเป็นมารเพราะเมื่อความตายเกิดขึ้น บุคคลย่อมหมดโอกาสที่จะทำประโยชน์ใดๆ อีกต่อไป ฯ

๗. จริต คืออะไร ? คนมีปกติเชื่อง่ายจริตอะไร ?

      ตอบ : คือ พื้นเพอัธยาศัยของบุคคลที่แสดงออกมาตามปกติเป็นประจำ ฯ เป็นสัทธาจริต ฯ

๘. กิเลสที่ได้ชื่อว่าอนุสัย และได้ชื่อว่าสังโยชน์ มีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : กิเลสได้ชื่อว่าอนุสัย เพราะเป็นกิเลสอย่างละเอียด นอนเนื่องอยู่ในสันดานของสัตว์ มักไม่ปรากฏ ต่อเมื่อมีอารมณ์มายั่ว จึงปรากฏขึ้น

        กิเลสที่ได้ชื่อว่าสังโยชน์ เพราะเป็นกิเลสที่ผูกใจสัตว์ไว้กับภพไม่ให้หลุดพ้นไปได้ ฯ

๙. พระพุทธคุณบทว่า อรหํ เป็นพระอรหันต์ มีความหมายอย่างไรบ้าง ? เลือกตอบมา ๒ อย่าง

      ตอบ : มีความหมาย ๔ อย่าง คือ

        ๑) ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไกลจากกิเลสและบาปธรรม กล่าวคือ เป็นผู้บริสุทธิ์
        ๒) ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้หักกำสังสารจักร คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมได้
        ๓) ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนเขา หรือเป็นผู้ควรรับความเคารพนับถือ
        ๔) ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะเป็นผู้ไม่มีความลับ คือ มิได้ทำความเสียหายอันใดที่จะพึงซ่อนเร้น ฯ

๑๐. จงให้ความหมายของคำต่อไปนี้ ?

      ๑) อโหสิกรรม

      ๒) กตัตตากรรม

      ตอบ : อโหสิกรรม คือกรรมให้ผลสำเร็จแล้ว เป็นกรรมล่วงคราวแล้วเลิกให้ผล เปรียบเหมือนพืชสิ้นยางแล้ว เพาะไม่ขึ้น
กตัตตากรรม คือกรรมสักว่าทำ ได้แก่กรรมอันทำด้วยไม่จงใจ ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๘

๑. สมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน มุ่งผลแห่งการปฏิบัติอย่างไร ?

      ตอบ : สมถกัมมัฏฐาน มุ่งผลคือความสงบใจ ส่วนวิปัสสนากัมมัฏฐาน มุ่งผลคือความเรืองปัญญา ฯ

๒. ปาพจน์ ๒ คือธรรมและวินัยนั้นทราบแล้ว อยากทราบว่า ความปฏิบัติอย่างไรจัดเป็นธรรม ความปฏิบัติอย่างไรจัดเป็นวินัย ?

      ตอบ : ความปฏิบัติเพื่อเป็นทางนำความประพฤติและอัธยาศัยให้ประณีตขึ้น จัดเป็นธรรม ความปฏิบัติเนื่องด้วยระเบียบอันทรงตั้งไว้ด้วยพุทธอาณา เป็นสิกขาบทหรืออภิสมาจาร เพื่อเป็นทางนำความประพฤติให้สม่ำเสมอกัน หรือเป็นเครื่องบริหารคณะ จัดเป็นวินัย ฯ

๓. โลกัตถจริยา ที่พระพุทธองค์ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลกนั้น มีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่มหาชนที่นับว่าสัตวโลกทั่วไป เช่น ทรงแผ่พระญาณตรวจดูสัตวโลกทุกเช้าค่ำ ผู้ใดปรากฏในข่ายพระญาณเสด็จไปโปรดผู้นั้น สรุปคือ ทรงสงเคราะห์คนทั้งหลายโดยฐานเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ฯ

๔. วิเวก ๓ คืออะไรบ้าง ? จงอธิบายแต่ละอย่างพอเข้าใจ

      ตอบ : คือ กายวิเวก สงัดกาย ได้แก่อยู่ในที่สงัด จิตตวิเวก สงัดจิต ได้แก่ทำจิตให้สงบด้วยสมถภาวนา อุปธิวิเวก สงัดกิเลส ได้แก่ทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสด้วยวิปัสสนาภาวนา ฯ

๕. ในสังขาร ๓ อะไรชื่อว่ากายสังขารและวจีสังขาร ? เพราะเหตุไรจึงได้ชื่ออย่างนั้น ?

      ตอบ : ลมอัสสาสะปัสสาสะ ได้ชื่อว่ากายสังขาร เพราะปรนปรือกายให้เป็นอยู่ วิตกกับวิจาร ได้ชื่อว่าวจีสังขาร เพราะตริแล้วตรองแล้วจึงพูด ไม่เช่นนั้นวาจานั้นจักไม่เป็นภาษา ฯ

๖. อปัสเสนธรรมข้อว่า “พิจารณาแล้วบรรเทาของอย่างหนึ่ง” ของอย่างหนึ่งนั้น คืออะไร ?

      ตอบ : คือ อกุศลวิตกสัมปยุตด้วยกาม พยาบาท วิหิงสา ฯ

๗. อุปาทาน คืออะไร ? การถือเราถือเขาด้วยอำนาจมานะ จนเป็นเหตุถือพวก จัดเป็นอุปาทานอะไร ในอุปาทาน ๔ ?

      ตอบ : คือ การถือมั่นข้างเลว ได้แก่ถือรั้นฯ จัดเป็นอัตตวาทุปาทาน ฯ

๘. ธรรมมัจฉริยะ ความตระหนี่ธรรม มีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า ความหวงธรรม หวงศิลปวิทยา ไม่ปรารถนาจะแสดงจะบอกแก่คนอื่น เกรงว่าเขาจะรู้เทียมตน ฯ

๙. ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยอะไรบ้าง ?

      ตอบ : ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นได้เพราะอาศัยลิ้นกับรส (กระทบกัน) และกายวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยกายกับโผฏฐัพพะ (กระทบกัน) ฯ

๑๐. อุปฆาตกรรม คือกรรมตัดรอน ทำหน้าที่อะไร ?

      ตอบ : ทำหน้าที่ตัดรอนผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมให้ขาด แล้วเข้าให้ผลแทนที่ (ชนกกรรมและอุปัตภัมภกกรรมนั้น) ฯ ขบด้วยทิฏฐิ (ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา) ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๗

๑. ตจปัญจกกัมมัฏฐาน มีอะไรบ้าง ? เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอย่างไร ? เป็นอารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานหรือของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ?

      ตอบ : มี เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทนฺตา ฟัน และ ตโจ หนัง ฯ เรียกอีกอย่างว่า มูลกัมมัฏฐาน ฯ เป็นอารมณ์ได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

๒. สังขตธรรม และอสังขตธรรม ต่างกันอย่างไร ? สัตว์ ต้นไม้ ภูเขา เป็นสังขตธรรม เพราะมีลักษณะอย่างไร ?

      ตอบ : สังขตธรรม คือธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง ส่วนอสังขตธรรม คือธรรมอันปัจจัยไม่ได้ปรุงแต่ง ฯ เพราะมีลักษณะ คือมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความดับในที่สุด และเมื่อยังตั้งอยู่ ความแปรผันปรากฏ ฯ

๓. มหาภูตรูป คืออะไร มีความเกี่ยวเนื่องกับอุปาทายรูปอย่างไร ?

      ตอบ : คือ รูปที่เป็นใหญ่เป็นประธาน อันประกอบด้วยธาตุ ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ฯ เป็นที่ตั้งอาศัยแห่งอุปาทายรูป หรือรูปย่อย เมื่อรูปใหญ่ แตกทำลายไป อุปาทายรูปที่อิงอาศัยมหาภูตรูปนั้นก็แตกทำลายไปด้วย ฯ

๔. กิเลส กรรม วิบาก ได้ชื่อว่า วัฏฏะ เพราะเหตุไร ? จะตัดให้ขาดได้ด้วยอะไร ?

      ตอบ : เพราะหมุนเวียนกันไป คือกิเลสเกิดขึ้นแล้วเป็นเหตุให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสเกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ ด้วยอรหัตตมรรค ฯ

๕. กตญาณ เป็นไปในอริยสัจ ๔ อย่างไร ?

      ตอบ : ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์ที่ควรกำหนดรู้ได้กำหนดรู้แล้ว ทุกขสมุทัยที่ควรละได้ละแล้ว ทุกขนิโรธที่ควรทำให้แจ้งได้ทำให้แจ้งแล้ว ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาที่ควรเจริญได้เจริญแล้ว ฯ

๖. ความรู้สึกเฉยๆ ทางกาย กับความรู้สึกเฉยๆ ทางใจ จัดเข้าในเวทนา ๕ อย่างไร ?

      ตอบ : ความรู้สึกเฉยๆ ทางกาย จัดเป็นสุข ความรู้สึกเฉยๆ ทางใจ จัดเป็นอุเบกขา ฯ

๗. กิเลส ชื่อว่าโอฆะ โยคะ และอาสวะ เพราะเหตุไร ?

      ตอบ : ชื่อว่า โอฆะ เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์ ชื่อว่า โยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ ชื่อว่า อาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน ฯ

๘. การแผ่เมตตาในพรหมวิหาร กับในอัปปมัญญา ต่างกันอย่างไร ?

      ตอบ : ในพรหมวิหาร เป็นการแผ่เมตตาโดยเจาะจงตัว หรือเจาะจงหมู่คณะ ส่วนในอัปปมัญญา เป็นการแผ่เมตตาโดยไม่เจาะจงตัว ไม่มีจำกัด ฯ

๙. ผู้บริจาคทานระดับใด จัดเป็นทานบารมี ทานอุปบารมี และ ทานปรมัตถบารมี ?

      ตอบ : บริจาคพัสดุภายนอก จัดเป็นทานบารมี บริจาคอวัยวะ จัดเป็นทานอุปบารมี บริจาคชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี ฯ

๑๐. บุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพหุสุต เพราะประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

      ตอบ : ประกอบด้วย

        ๑. ได้ยินได้ฟังมาก (พหุสสุตา)
        ๒. ทรงจำไว้ (ธตา)
        ๓. ท่องไว้ด้วยวาจา (วจสา ปริจิตา)
        ๔. เอาใจจดจ่อ (มนสานุเปกขิตา)
        ๕. ขบด้วยทิฏฐิ (ทิฏฐิยา สุปฏิวิทธา) ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๖

๑. ทิฏฐิที่หมายถึงความเห็นผิด ๒ อย่าง มีอะไรบ้าง ?

      ตอบ : มี

        ๑) สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง
        ๒) อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ ฯ

๒. กุศลวิตกมีอะไรบ้าง ? สงเคราะห์เข้าในมรรคมีองค์ ๘ ข้อไหนได้ ?

      ตอบ : มี

        ๑) เนกขัมมวิตก ความตริในทางพรากจากกาม
        ๒) อพยาบาทวิตก ความตริในทางไม่พยาบาท
        ๓) อวิหิงสาวิตก ความตริในทางไม่เบียดเบียน ฯ
        สงเคราะห์เข้าในข้อสัมมาสังกัปปะ ฯ

๓. ฆ่าสัตว์อย่างไรเกิดทางกายทวาร อย่างไหนเกิดทางวจีทวาร ?

      ตอบ : ฆ่าด้วยตนเอง เกิดทางกายทวาร
        ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า เกิดทางวจีทวาร

๔. ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขสมุทัยสัจ มีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า

        ๑) ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสมุทัยเป็นเหตุให้ทุกข์เกิดจริง จัดเป็นสัจญาณ
        ๒) ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสมุทัยควรละ จัดเป็นกิจญาณ
        ๓) ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสมุทัยละได้แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ

๕. ในพระพุทธศาสนาพูดเรื่องมารไว้มาก อยากทราบคำว่า มาร หมายถึงอะไร ? กิเลสได้ชื่อว่ามารเพราะเหตุไร ?

      ตอบ : หมายถึงสิ่งที่ล้างผลาญทำลายความดี ชักนำให้ทำบาปกรรม ปิดกั้นไม่ให้ทำความดี จนถึงปิดกั้นไม่ให้เข้าใจสรรพสิ่งตามความเป็นจริง ฯ

        เพราะผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสแล้วย่อมจะถูกผูกมัดไว้บ้าง ถูกทำให้เสียคนบ้าง ฯ

๖. คำว่าพระธรรมในธรรมคุณบทว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว” หมายถึงอะไร ?

      ตอบ : หมายถึงปริยัติธรรม กับปฏิเวธธรรม (หรือโดยพิสดาร ได้แก่ สัทธรรม ๑๐ คือโลกุตรธรรม ๙ กับปริยัติธรรม ๑) ฯ

๗. ทักขิณาวิสุทธิ มีอะไรบ้าง ? อย่างไหนให้อานิสงส์มากที่สุด ?

      ตอบ : ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
        ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
        ทักขิณาบางอย่างไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก
        ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก ฯ
        อย่างที่ ๔ คือทักขิณาที่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก ทั้งฝ่ายปฏิคาหก ฯ

๘. อนุสัย หมายถึงกิเลสประเภทไหน ? ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะเหตุไร ?

      ตอบ : หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ฯ เพราะกิเลสชนิดนี้ บางทีไม่ปรากฏ แต่เมื่อมีอารมณ์มายั่ว ย่อมเกิดขึ้นในทันใด ฯ

๙. พุทธคุณ ๒ ก็มี พุทธคุณ ๓ ก็มี พุทธคุณ ๙ ก็มี จงแจกแจงแต่ละอย่างว่ามีอะไรบ้าง ?

      ตอบ : พุทธคุณ ๒ คือ อัตตสมบัติ และปรหิตสมบัติ
        พุทธคุณ ๓ คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และ พระกรุณาคุณ
        พุทธคุณ ๙ คือ อรหํ, สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, สุคโต, โลกวิทู, อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ, สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, พุทฺโธ, ภควา ฯ

๑๐. ธุดงค์ คืออะไร ? มีกี่หมวด หมวดไหนว่าด้วยเรื่ออะไร ?

      ตอบ : คือวัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ

        มี ๔ หมวด ฯ ดังนี้

          หมวดที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องจีวร
          หมวดที่ ๒ ว่าด้วยเรื่องบิณฑบาต
          หมวดที่ ๓ ว่าด้วยเรื่องเสนาสนะ
          หมวดที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องความเพียร ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๕

๑. กัมมัฏฐานที่พระอุปัชฌาย์สอนแก่ผู้ขอบรรพชาอุปสมบทว่า เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ ตโจ ทนฺตา นขา โลมา เกสา นั้น เรียกชื่อว่าอะไร เป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ?

      ตอบ : ชื่อว่า ตจปัจกกัมมัฏฐาน หรือมูลกัมมัฏฐาน เป็นได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

๒. แสวงหาอะไรเป็นการแสวงหาอย่างประเสริฐ แสวงหาอะไรเป็นการแสวงหาไม่ประเสริฐ ?

      ตอบ : ในพระสูตรแสดงว่า แสวงหาสภาพอันมิใช่ของมีชรา พยาธิ มรณะ คือคุณธรรมมีพระนิพพานเป็นอย่างสูง เป็นการแสวงหาอย่างประเสริฐ เรียกว่าอริยปริเยสนา

        แสวงหาของมีชรา พยาธิ มรณะ เช่นหาของเล่น เป็นการแสวงหาไม่ประเสริฐ เรียกว่าอนริยปริเยสนา ฯ

๓. ผู้มีอัตตาธิปเตยยะ กับผู้มีธัมมาธิปเตยยะ มีความมุ่งหมายในการทำงานต่างกันอย่างไร ?

      ตอบ : ผู้มีอัตตาธิปเตยยะ ปรารภภาวะของตนเป็นใหญ่ ทำด้วยมุ่งให้สมภาวะของตน ผู้ทำมุ่งผลอันจะได้แก่ตน หรือมุ่งความสะดวกแห่งตน

        ส่วนผู้มีธัมมาธิปเตยยะ ทำด้วยไม่มุ่งหมายอย่างอื่น เป็นแต่เห็นสมควร เห็นว่าถูกก็ทำ หรือทำด้วยอำนาจเมตตากรุณาเป็นอาทิ ฯ

๔. ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขสัจ มีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า

        ๑. ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขสัจ จัดเป็นสัจจญาณ
        ๒. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสัจเป็นสภาพที่ควรกำหนดรู้ จัดเป็นกิจจญาณ
        ๓. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขสัจที่ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ

๕. อปัสเสนธรรม (ธรรมเป็นที่พึ่งพิง) ข้อที่ ๒ ว่า พิจารณาแล้วอดกลั้นของอย่างหนึ่งนั้นมีอธิบายอย่างไร ?

      ตอบ : มีอธิบายว่า อดกลั้นอารมณ์อันไม่เป็นที่เจริญใจ ต่างโดยหนาว ร้อน หิว กระหาย ถ้อยคำเสียดแทง และทุกขเวทนาอันแรงกล้า ฯ

๖. อริยวงศ์ คืออะไร มีกี่อย่าง ข้อที่ ๔ ว่าอย่างไร ?

      ตอบ : คือ ปฏิปทาของพระอริยบุคคลผู้เป็นสมณะ มี ๔ อย่าง ข้อที่ ๔ ว่า ยินดีในการเจริญกุศลและในการละอกุศล ฯ

๗. ปัญจขันธ์ ได้ชื่อว่าเป็นมาร เพราะเหตุไร ?

      ตอบ : เพราะปัญจขันธ์นั้น บางทีทำความลำบากให้ อันเป็นเหตุเบื่อหน่าย จนถึงฆ่าตัวตายเสียเองก็มี ฯ

๘. สมาธิระดับไหน จึงจัดเป็นจิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต ?

      ตอบ : สมาธิทั้งที่เป็นอุปจาระ ทั้งที่เป็นอัปปนา โดยที่สุดขณิกสมาธิ คือสมาธิชั่วขณะพอเป็นรากฐานแห่งวิปัสสนา จัดเป็นจิตตวิสุทธิ ฯ

๙. สังฆคุณ ๙ มีอะไรบ้าง จะย่นให้เหลือเพียง ๒ ได้อย่างไร ?

      ตอบ : มี ๑. สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
        ๒. อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว
        ๓. ญายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม
        ๔. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร
        ๕. อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของคำนับ
        ๖. ปาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรของต้อนรับ
        ๗. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรของทำบุญ
        ๘. อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรทำอัญชลี (ประณมมือไหว้)
        ๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญ อื่นยิ่งกว่า ฯ

        ข้อ ๑ ถึงข้อ ๔ เป็นอัตตหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ตนเอง
        ข้อ ๕ ถึงข้อ ๑๐ เป็นปรหิตคุณ คือคุณเกื้อกูลแก่ผู้อื่น ฯ

๑๐. กรรมที่บุคคลทำไว้ ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง ?

      ตอบ : ทำหน้าที่ คือ

        ๑. แต่ง (วิบาก) ให้เกิด เรียกว่า ชนกกรรม
        ๒. สนับสนุน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปัตถัมภกกรรม
        ๓. บีบคั้น (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปปีฬกกรรม
        ๔. ตัดรอน (วิบากของกรรมอื่น) เรียกว่า อุปฆาตกกรรม ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๔

๑. ในอริยบุคคล ๒ พระเสขะผู้ยังต้องศึกษา คือศึกษาเรื่องอะไร ผู้ศึกษากำลังสอบธรรมอยู่นี้เรียกว่าพระเสขะได้หรือไม่ ?

        ตอบ : คือ ศึกษาในอธิสีล ในอธิจิต และในอธิปัญญา อีกอย่างหนึ่ง หมายถึง ต้องศึกษาและต้องปฏิบัติเพื่อมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไป ฯ ยังเรียกว่าพระเสขะไม่ได้ ถ้าไม่ใช่พระอริยบุคคล ๗ จำพวกเบื้องต้น ฯ

๒. มหาภูตรูปและอุปาทายรูป คืออะไร ?

        ตอบ : มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ ได้แก่ธาตุ ๔ มี ปฐวี อาโป เตโช วาโย อุปาทายรูป คือรูปอาศัยมหาภูตรูปนั้น ฯ

๓. ไตรวัฏฏะ อันได้แก่ กิเลสวัฏฏะ กัมมวัฏฏะ วิปากวัฏฏะ มีสภาพเกี่ยวเนื่องวนกันไปอย่างไร ตัดให้ขาดได้ด้วยอะไร ?

        ตอบ : อย่างนี้ คือ กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสก็เกิดขึ้นอีก วนกันไป อย่างนี้ ฯ ได้ด้วยอรหัตตมรรคญาณ ฯ

๔. เมตตากับปรานีมีความหมายต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร และอย่างไหนกำจัดวิตกอะไร ?

        ตอบ : เมตตาหมายถึงความรักใคร่หรือความหวังดี ปรานีหมายถึงความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ เข้าลักษณะแห่งกรุณา ฯ เมตตา กำจัดพยาบาทวิตก ปรานี กำจัดวิหิงสาวิตก ฯ

๕. ทักขิณา คืออะไร ทักขิณานั้น จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ในฝ่ายทายกและในฝ่ายปฏิคาหกนั้น มีอะไรเป็นเครื่องหมาย ?

        ตอบ : คือ ของทำบุญ ฯ

          ทักขิณาจะบริสุทธิ์ มีศีลมีกัลยาณธรรมเป็นเครื่องหมาย ทักขิณา จะไม่บริสุทธิ์ มีทุศีลมีบาปธรรมเป็นเครื่องหมาย ฯ

๖. บทนมัสการพระธรรมว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธมฺมํ นมสฺสามิ ข้าพเจ้า นมัสการพระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ที่ว่า ตรัสดีแล้ว นั้นมีอธิบายอย่างไร ?

        ตอบ : มีอธิบายอย่างนี้คือ ดีทั้งในส่วนปริยัติและดีทั้งในส่วนปฏิเวธ ในส่วนปริยัติ ได้ชื่อว่าดีเพราะตรัสไม่วิปริต เพราะแสดงข้อปฏิบัติโดยลำดับกัน มีความไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ในส่วนปฏิเวธนั้น ได้ชื่อว่าดีเพราะปฏิปทากับพระนิพพานย่อมสมควรแก่กันและกัน ฯ

๗. พระพุทธคุณว่า อรหใช้เป็นคุณบทของพระสาวกได้ด้วยหรือไม่ ถ้าได้ จะมีคำอะไรมาประกอบร่วมด้วย เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นคุณบทของพระศาสดาหรือของพระสาวก ?

        ตอบ : ได้ ฯ สำหรับพระศาสดา ใช้ว่า อรหสมฺมาสมฺพุทฺโธ แปลว่า พระอรหันต์ ผู้ตรัสรู้ชอบเอง สำหรับพระสาวกใช้ว่า อรหํ ขีณาสโว แปลว่า พระอรหันต์ผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ฯ

๘. คำว่า พระสงฆ์ ในบทสังฆคุณนั้น ท่านประสงค์บุคคลเช่นไร จงจำแนกมาดู ?

      ตอบ : ท่านประสงค์พระอริยบุคคล ๔ คู่ ๘ บุคคล ซึ่งล้วนแต่ท่านผู้ที่ตั้งอยู่ในมรรคผลทั้งสิ้น คือ พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล คู่ ๑ พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล คู่ ๑ พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล คู่ ๑ พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผล คู่ ๑ ฯ

๙. พระบาลีว่า “อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา” เพราะอวิชชา เป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ดังนี้ คำว่า สังขารหมายถึงอะไร ได้แก่ อะไรบ้าง ?

      ตอบ : หมายถึงสภาพผู้ปรุงแต่ง ฯ ได้แก่

        ๑. ปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือบุญ
        ๒. อปุญญาภิสังขาร อภิสังขารคือบาป
        ๓. อเนญชาภิสังขาร อภิสังขารคืออเนญชา ฯ

๑๐. ครุกรรม คืออะไร อนันตริยกรรมกับสมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศลหรืออกุศล ?

      ตอบ : คือ กรรมหนัก ฯ
        อนันตริยกรรม เป็นครุกรรมฝ่ายอกุศล สมาบัติ ๘ เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๓

๑. สังขตธรรม คืออะไร มีลักษณะอย่างไร ?

        ตอบ : คือ ธรรมอันปัจจัยปรุงแต่ง ฯ
          มีลักษณะ คือ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความดับไปในที่สุด และเมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนปรากฏ ฯ

๒. วิมุตติ กับ วิโมกข์ ต่างกันอย่างไร สมุจเฉทวิมุตติ มีอธิบายอย่างไร ?

        ตอบ : ต่างกันแต่โดยพยัญชนะ แต่ก็พ้นจากราคะ โทสะ โมหะ ได้เท่ากันโดยอรรถ ฯ
          มีอธิบายว่า ความพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจอริยมรรค กิเลสเหล่านั้นขาดเด็ดไปไม่กลับเกิดอีก ฯ

๓. ญาณ ๓ ที่เป็นไปในอริยสัจ ๔ มีอะไรบ้าง ญาณ ๓ ที่เป็นไปในทุกขนิโรธสัจ มีอธิบายอย่างไร ?

        ตอบ : มี ๑. สัจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้อริยสัจ
          ๒. กิจจญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ
          ๓. กตญาณ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันทำแล้ว ฯ

          มีอธิบายว่า

          ๑. ปรีชาหยั่งรู้ว่า นี้ทุกขนิโรธสัจ จัดเป็นสัจจญาณ
          ๒. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขนิโรธสัจเป็นสภาพที่ควรทำให้แจ้ง จัดเป็นกิจจญาณ
          ๓. ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกขนิโรธสัจที่ควรทำให้แจ้งๆ แล้ว จัดเป็นกตญาณ ฯ

๔. ภพกับภูมิต่างกันอย่างไร มีอย่างละเท่าไร ?

        ตอบ : ภพ หมายถึงโลกเป็นที่อยู่ต่างชั้นแห่งหมู่สัตว์ มี ๓ ฯ ภูมิ หมายถึงภาวะอันประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ แห่งจิตและเจตสิก มี ๔ ฯ

๕. กาม ภพ ทิฏฐิ และอวิชชา ได้ชื่อว่า โอฆะ โยคะ และอาสวะ เพราะเหตุไร ?

        ตอบ : ได้ชื่อว่า โอฆะ เพราะเป็นดุจกระแสน้ำอันท่วมใจสัตว์ ได้ชื่อว่าโยคะ เพราะประกอบสัตว์ไว้ในภพ ได้ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นสภาพหมักหมมอยู่ในสันดาน ฯ

๖. จริต ๖ ได้แก่อะไรบ้าง คนมีจริตมักนึกพล่านจะพึงแก้ด้วยกัมมัฏฐานอะไร ?

        ตอบ : ได้แก่ ๑. ราคจริต ๒. โทสจริต ๓. โมหจริต ๔. วิตักกจริต ๕. สัทธาจริต ๖. พุทธิจริต ฯ
          พึงแก้ด้วยวิธีเพ่งกสิณ หรือเจริญอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน ฯ

๗. พระพุทธคุณ ๙ บท คืออะไรบ้าง บทไหนจัดเป็นอัตตหิตสมบัติและปรหิตปฏิบัติ ?

        ตอบ : คือ อรหํ, สมฺมาสมฺพุทฺโธ, วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน, สุคโต, โลกวิทู, อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ, สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, พุทฺโธ, ภควา ฯ
          ๕ บทเบื้องต้น เป็นอัตตหิตสมบัติ ๔ บทเบื้องปลาย เป็นปรหิตปฏิบัติ ฯ

๘. พระโสดาบัน แปลว่าอะไร หมายถึงพระอริยบุคคลผู้ละสังโยชน์อะไรได้ขาดบ้าง ?

        ตอบ : แปลว่าผู้แรกเข้าถึงกระแสพระนิพพาน ฯ
          ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาสได้ขาด ฯ

๙. ธุดงค์ท่านบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์อะไร ธุดงค์ที่ภิกษุถือได้มีกำหนดเฉพาะกาล คือข้อใด เพราะเหตุใด ?

        ตอบ : เพื่อเป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ
          ข้อ รุกขมูลิกังคะ และ อัพโภกาสิกังคะ ฯ
          ธุดงค์ ๒ ข้อนี้ ภิกษุถือได้เฉพาะกาลนอกพรรษา เพราะในพรรษาภิกษุต้องถือเสนาสนะเป็นที่อยู่อาศัยประจำ ตามพระวินัยนิยม ฯ

๑๐. บุคคลผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นพหูสูต เพราะประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง ?

      ตอบ : ประกอบด้วย

        ๑. พหุสฺสุตา ได้ยินได้ฟังมาก
        ๒. ธตา ทรงจำได้
        ๓. วจสา ปริจิตา ท่องไว้ด้วยวาจา
        ๔. มนสานุเปกฺขิตา เอาใจจดจ่อ
        ๕. ทิฏฺฐิยา สุปฏิวิทฺธา ขบด้วยทิฏฐิ ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๒

๑. ตจปัญจกกัมมัฏฐานเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร มีอะไรบ้าง จัดเป็นสมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ?

        ตอบ : เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูลกัมมัฏฐาน ฯ มีเกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน และตโจ หนัง ฯ เป็นได้ทั้งสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน ฯ

๒. ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ ความดับไป เป็นลักษณะของธรรมอะไร สัตว์บุคคลมีลักษณะเช่นนั้นหรือไม่ จงอธิบาย ?

        ตอบ : เป็นลักษณะของสังขตธรรม ฯ มีลักษณะเช่นนั้น คือ เมื่อสัตว์บุคคลเกิดมาแล้วก็เป็นความเกิดขึ้น ต่อมาก็เจริญเติบโตผ่านวัยทั้ง ๓ ก็เป็นความตั้งอยู่ เมื่อตายก็เป็นความดับไป ฯ

๓. ปิฎก ๓ ได้แก่อะไรบ้าง แต่ละปิฎกว่าด้วยเรื่องอะไร ?

        ตอบ : ได้แก่ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ฯ
          พระวินัยปิฎก ว่าด้วยเรื่องกฎระเบียบข้อบังคับที่นำความประพฤติให้สม่ำเสมอกัน หรือเป็นเครื่องบริหารคณะ
          พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยคำสอนยกบุคคลเป็นที่ตั้ง
          พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยคำสอนยกธรรมล้วนๆ ไม่เจือด้วยสัตว์ หรือบุคคลเป็นที่ตั้ง ฯ

๔. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น มีอธิบายอย่างไร ?

        ตอบ : มีอธิบายอย่างนี้ รู้ชัดตามจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางไปถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ฯ

๕. มาร มีอะไรบ้าง อกุศลกรรมจัดเป็นมารประเภทใด ?

        ตอบ : มีดังนี้

          ๑. ขันธมาร มารคือปัญจขันธ์
          ๒. กิเลสมาร มารคือกิเลส
          ๓. อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร
          ๔. มัจจุมาร มารคือมรณะ
          ๕. เทวปุตตมาร มารคือเทวบุตร ฯ
          อกุศลกรรมเป็นมารประเภทอภิสังขารมาร ฯ

๖. สวรรค์มีกี่ชั้น อะไรบ้าง ?

        ตอบ : มี ๖ ชั้น ได้แก่

          ๑. ชั้นจาตุมหาราชิกา
          ๒. ชั้นดาวดึงส์
          ๓. ชั้นยามา
          ๔. ชั้นดุสิต
          ๕. ชั้นนิมมานรดี
          ๖. ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ฯ

๗. พระพุทธคุณบทหนึ่งว่า เป็นผู้หักกำแห่งสังสารจักร ถามว่า กำได้แก่อะไร สังสารจักร ได้แก่อะไร ?

        ตอบ : กำ ได้แก่ อวิชชา วัฏฏะ ๓ คือ ตัณหา อุปาทาน กรรม ฯ สังสารจักร ได้แก่ วัฏฏะ ๓ คือ กิเลส กรรม วิบาก ฯ

๘. มิจฉัตตะ คืออะไร มีอะไรบ้าง มิจฉาวายามะ ได้แก่พยายามผิดอย่างไร ?

        ตอบ : ความเป็นสิ่งที่ผิด ฯ มี

          ๑. มิจฉาทิฏฐิ ๒. มิจฉาสังกัปปะ ๓. มิจฉาวาจา ๔. มิจฉากัมมันตะ ๕. มิจฉาอาชีวะ ๖. มิจฉาวายามะ ๗. มิจฉาสติ ๘. มิจฉาสมาธิ ๙. มิจฉาญาณะ ๑๐. มิจฉาวิมุตติ ฯ

          มิจฉาวายามะ ได้แก่ พยายามในทางยังบาปธรรมให้เกิดขึ้นและให้เจริญ และในทางยังกุศลธรรมไม่ให้เกิดขึ้นและให้เสื่อมสิ้น ฯ

๙. สังโยชน์ คืออะไร พระโสดาบันละสังโยชน์อะไรได้ขาดบ้าง ?

        ตอบ : คือ กิเลสอันผูกใจสัตว์ไว้ ฯ ละสังโยชน์ ๓ เบื้องต้นได้ขาด คือ

          ๑. สักกายทิฏฐิ
          ๒. วิจิกิจฉา
          ๓. สีลัพพตปรามาส ฯ

๑๐. ธุดงค์ ได้แก่อะไร การสมาทานธุดงค์ด้วยการฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ที่เรียกกันทั่วไปว่า “ฉันเอกา” จัดเข้าในธุดงค์ข้อไหน ?

      ตอบ : ได้แก่ วัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ จัดเข้าในข้อ เอกาสนิกังคะ คือ ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๑

๑. รูปในขันธ์ ๕ แบ่งเป็น ๒ ได้แก่อะไรบ้าง จงอธิบายมาสั้นๆ พอเข้าใจ ?

        ตอบ : ได้แก่ มหาภูตรูป และ อุปาทายรูป
         มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ อันได้แก่ ธาตุ ๔ มีดิน น้ำ ไฟ ลม
          อุปาทายรูป คือ รูปอาศัย เป็นอาการของมหาภูตรูป เช่น ประสาท ๕ มีจักขุประสาทเป็นต้น โคจร ๕ มีรูปารมณ์เป็นต้น ฯ

๒. เจโตวิมุตติ กับ ปัญญาวิมุตติ ต่างกันอย่างไร ?

        ตอบ : เจโตวิมุตติ เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุฌานมาก่อนแล้ว จึงบำเพ็ญวิปัสสนาต่อ ส่วนปัญญาวิมุตติ เป็นวิมุตติของท่านผู้ได้บรรลุด้วยลำพังบำเพ็ญวิปัสสนาล้วน
          อีกนัยหนึ่ง เรียกเจโตวิมุตติ เพราะพ้นจากราคะ เรียกปัญญาวิมุตติ เพราะพ้นจากอวิชชา

๓. กิจจญาณ คืออะไร เป็นไปในอริยสัจ ๔ อย่างไร ?

        ตอบ : คือ ปรีชาหยั่งรู้กิจอันควรทำ ฯ
          ปรีชาหยั่งรู้ว่า ทุกข์เป็นธรรมชาติที่ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยเป็นธรรมชาติที่ควรละ ทุกขนิโรธเป็นธรรมชาติที่ควรทำให้แจ้ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาเป็นธรรมชาติที่ควรทำให้เกิด ฯ

๔. ปาฏิหาริย์ ๓ มีอะไรบ้าง อย่างไหนเป็นอัศจรรย์ที่สุด ?

        ตอบ : มี อิทธิปาฏิหาริย์ ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์
          อาเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจเป็นอัศจรรย์
          อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนเป็นอัศจรรย์ ฯ
          อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นอัศจรรย์ที่สุด ฯ

๕. กิเลส กรรม วิบาก เรียกว่าวัฏฏะ เพราะเหตุไร จงอธิบาย ?

        ตอบ : เพราะวน คือหมุนเวียนกันไป ฯ อธิบายว่า กิเลสเกิดขึ้นแล้วให้ทำกรรม ครั้นทำกรรมแล้ว ย่อมได้รับวิบากแห่งกรรม เมื่อได้รับวิบาก กิเลสก็เกิดขึ้นอีก วนกันไปอย่างนี้ ฯ

๖. คำว่า พระโสดาบัน และ สัตตักขัตตุปรมะ มีอธิบายอย่างไร ?

        ตอบ : พระโสดาบัน คือพระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอริยผลขั้นแรก ฯ
          สัตตักขัตตุปรมะ คือพระโสดาบันผู้จะเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง ฯ

๗. อบาย ได้แก่อะไร มีอะไรบ้าง ?

        ตอบ : ได้แก่ ภูมิ กำเนิด หรือพวกอันหาความเจริญมิได้ ฯ
          มี นิรยะ คือนรก ติรัจฉานโยนิ คือกำเนิดดิรัจฉาน
          ปิตติวิสัย คือภูมิแห่งเปรต อสุรกาย คือพวกอสุระ ฯ

๘. มานะ คืออะไร ว่าโดยย่อ ๓ อย่าง ได้แก่อะไรบ้าง ?

        ตอบ : คือ ความสำคัญตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ฯ

          ได้แก่   ๑. สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา
                   ๒. สำคัญตัวว่าเสมอเขา
                   ๓. สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ฯ

๙. สมุทัยวาร กับ นิโรธวาร ในปฏิจจสมุปบาท ต่างกันอย่างไร ?

        ตอบ : สมุทัยวาร คือการแสดงความเกิดแห่งผล เพราะเกิดแห่งเหตุ
          ส่วนนิโรธวาร คือการแสดงความดับแห่งผล เพราะดับแห่งเหตุ ฯ

๑๐. ธุดงค์ คืออะไร ข้อใดของปัจจัย ๔ ไม่มีในธุดงค์ ?

      ตอบ : คือ วัตตจริยาพิเศษอย่างหนึ่ง บัญญัติขึ้นด้วยหมายจะให้เป็นอุบายขัดเกลากิเลส และเป็นไปเพื่อความมักน้อยสันโดษ ฯ
        ข้อ ยารักษาโรค ฯ


นักธรรม ชั้นโท

ปัญหาและเฉลย วิชา ธรรมวิภาค

สอบในสนามหลวง พ.ศ. ๒๕๕๐

๑. พระเสขะ ผู้ยังต้องศึกษา คือศึกษาอะไร ชื่อว่าพระอเสขะ เพราะอะไร ?

        ตอบ : ศึกษาสิกขา ๓ คือ

                    ๑. อธิสีลสิกขา
                   ๒. อธิจิตตสิกขา
                   ๓. อธิปัญญาสิกขา ฯ เพราะเสร็จกิจอันจะต้องทำแล้ว ฯ

๒. ความเห็นว่าเที่ยงและเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นอย่างไร มติในทางพระพุทธศาสนาเป็นเช่นไร จงอธิบาย ?

        ตอบ : เห็นว่าเที่ยง คือเห็นว่า คนและสัตว์ตายแล้ว ชีวะไม่สูญ ต้องเกิดอีกต่อไป หรือเคยเป็นอะไร ก็เป็นอย่างนั้นตลอดไปหรือมีสภาพอย่างนั้นไม่แปรผันเป็นต้น ส่วนเห็นว่าขาดสูญ คือเห็นว่า อัตภาพจุติแล้ว เป็นอันสูญสิ้นไป หรือคนสัตว์ตายแล้วขาดสูญไปโดยประการทั้งปวง ฯ พระพุทธศาสนาปฏิเสธความเห็นทั้ง ๒ นั้น มีความเห็นประกอบด้วยสัมมาญาณ อิงเหตุผล ยึดเหตุผลเป็นที่ตั้ง โดยเห็นว่า คนและสัตว์ตายแล้วจะเกิดอีกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ฯ

๓. ปาพจน์ ๒ ได้แก่อะไรบ้าง ถ้าแจกเป็น ๓ จะได้อะไรบ้าง ?

        ตอบ : ได้แก่ พระธรรม และ พระวินัย ฯ
          ถ้าแจกเป็น ๓ จะได้ พระวินัย ๑ พระสูตร ๑ พระอภิธรรม ๑ ฯ

๔. พระพุทธเจ้าทรงอุปมากิเลสเหล่าไหนว่ามีลักษณะเหมือนกับไฟ ที่ทรงอุปมาเช่นนั้นเพราะเหตุไร ?

        ตอบ : กิเลสเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ ฯ เพราะเมื่อกิเลสทั้ง ๓ กองนี้ กองใดกองหนึ่งเกิดขึ้นภายในใจของบุคคล จะแผดเผา ก่อให้เกิดความเร่าร้อนขึ้นภายในใจ ฯ

๕. กรรมและทวาร คืออะไร อภิชฌาเป็นกรรมใดและเกิดทางทวารใดบ้าง จงอธิบาย ?

        ตอบ : กรรม คือ การกระทำ ส่วนทวาร คือ ทางเกิดของกรรม ฯ

          อภิชฌา ความอยากได้ เป็นมโนกรรมได้อย่างเดียว และเกิดได้ทั้ง ๓ ทวาร เป็นกายทวาร เช่น มีความอยากได้แล้วลูบคลำพัสดุที่อยากได้นั้น แต่ไม่มีไถยจิต เป็นวจีทวาร เช่น มีความอยากได้แล้วบ่นว่า ทำอย่างไรดีหนอ จักได้พัสดุนั้น และเป็นมโนทวาร เช่น มีความอยากได้แล้วรำพึงในใจ ฯ

๖. วิโมกข์ คืออะไร มีอะไรบ้าง ?

        ตอบ : คือ ความพ้นจากกิเลส ฯ
          มี สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ ฯ

๗. พระอริยบุคคล ๔ ได้แก่ใครบ้าง พระโสดาบันละสังโยชน์อะไรได้บ้าง ?

        ตอบ : ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์ ฯ พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ฯ

๘. โยนิ คืออะไร มีอะไรบ้าง เทวดาและสัตว์นรก จัดอยู่ในโยนิไหน ?

        ตอบ : คือ กำเนิด ฯ มี

          ชลาพุชะ เกิดในครรภ์
          อัณฑชะ เกิดในไข่
          สังเสทชะ เกิดในเถ้าไคล
          โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น ฯ
          จัดอยู่ใน โอปปาติกะ ฯ

๙. เวทนา ๓ และเวทนา ๕ ได้แก่อะไรบ้าง จัดกลุ่มเทียบกันอย่างไร ?

        ตอบ : เวทนา ๓ ได้แก่ สุข ทุกข์ เฉยๆ คือไม่สุขไม่ทุกข์ ส่วนเวทนา ๕ ได้แก่ สุข โสมนัส ทุกข์ โทมนัส อุเบกขา ฯ
          ในเวทนา ๓ สุข คือ สุขกายและสุขใจ ซึ่งในเวทนา ๕ สุขกาย ก็คือ สุข และสุขใจ ก็คือโสมนัส
          ในเวทนา ๓ ทุกข์ คือ ทุกข์กายและทุกข์ใจ ซึ่งในเวทนา ๕ ทุกข์กาย ก็คือทุกข์ และทุกข์ใจ ก็คือโทมนัส
          ส่วนในเวทนา ๓ เฉยๆ คือไม่สุขไม่ทุกข์ ในเวทนา ๕ ก็คืออุเบกขา นั่นเอง ฯ

๑๐. ในกรรม ๑๒ อุปัตถัมภกกรรม กับ อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่ต่างกันอย่างไร ?

        ตอบ : อุปัตถัมภกกรรม ทำหน้าที่สนับสนุนผลแห่งชนกกรรม
                   อุปปีฬกกรรม ทำหน้าที่บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม ฯ